การศึกษา
สจล. เผย Smart City ในกรุงเทพฯ เป็นจริงได้!
วันพุธ ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565, 16.40 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

สจล. เผย Smart City ในกรุงเทพฯ เป็นจริงได้!
Smart City เป็นแนวคิดการสร้างและพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยหลายเมืองทั่วโลกได้มีการปรับตัว และพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ตอบสนองความต้องการของประชาชนคนเมืองให้ได้มากที่สุด ในอดีตเมืองอัจฉริยะมีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาทางกายภาพ เพื่อให้เกิดสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หลังจากเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้มีการนำระบบออนไลน์มาแก้ปัญหาเมืองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น โดย Smart City ที่ดี ต้องคืนเวลา มอบโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน อีกทั้ง ยังต้องสร้างความสุขให้กับชาวเมืองอย่างแท้จริง
.jpg)
รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการปัญหาของคนเมืองในหลากหลายมิติ ทั้งปัญหาระดับเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย อาทิ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน การจราจร ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพ คือ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้คนกรุงเทพ และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ รายงานสภาพปัญหาที่พบเจอเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่พิจารณาและดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนร่วมกัน
รศ. ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าวต่อว่า เพื่อสนับสนุนให้ กรุงเทพมหานคร ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) จากการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมือง รวมถึงการวางผังเมือง (Urban Planning) โดยเร็วที่สุด จำเป็นต้องมีนักเทคโนโลยีหรือนวัตกรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองร่วมกับนักผังเมือง รวมถึงก้าวข้าม 3 เงื่อนไขในการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง สร้างการเข้าถึงโครงสร้างสาธารณะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1. กำหนดทิศทางขับเคลื่อนนโยบายเมืองอัจฉริยะที่ชัดเจน 2. ยืดหยุ่นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สอดรับกับความต้องการได้ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 3. จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
มาดูแนวคิดการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของประเทศใดบ้างที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประชากรในประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิตที่สามารถเข้าถึงระบบบริการต่างๆ ที่ทันสมัยได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเมืองหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะด้านการใช้พลังงานสะอาดและการจัดเก็บพลังงานเพื่อนำมาจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เมืองชองโด ประเทศเกาหลีใต้ โดดเด่นด้านเทคโนโลยีเครือข่ายเมือง พัฒนาระบบอัตโนมัติช่วยจัดการขยะของเมืองด้วยการดูดลงใต้ดิน และระบบจะทำการคัดแยกขยะให้โดยอัตโนมัติ และเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมืองที่มีแพลตฟอร์มในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงข้อมูลสาธารณะแบบเรียลไทม์ และมีความโปร่งใส พร้อมทั้งระบบควบคุมไฟบนท้องถนนอัจฉริยะ ระบบจัดการขยะอัจฉริยะ หรือการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
สจล. ร่วมพัฒนา Smart City ผ่านงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ผ่านศูนย์ SCiRA
สมาร์ทซิตี้เป็นเรื่องที่ยังต้องศึกษา และพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขยายพื้นที่ของความเป็นเมืองอัจฉริยะให้กว้างมากขึ้น โดยนำความสำเร็จจากหลากหลายเมืองทั่วโลกมาต่อยอดพัฒนาพื้นที่เมืองในประเทศไทย ซึ่งสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สจล. หรือ Smart City Innovative Research Academy (SCiRA) เป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสร้างองค์ความรู้การพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเมืองให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในหลากมิติ อาทิ ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ระบบเตือนภัยพิบัติอัจฉริยะ (Smart Disaster) ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ระบบการพัฒนาการใช้ที่ดินอัจฉริยะ (Smart Land Use) ระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
ที่ผ่านมา SCiRA ได้เดินหน้าพัฒนาโครงการและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตคนเมือง และพัฒนาเมืองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นที่พัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อวิเคราะห์ และเผยแพร่องค์ความรู้” รศ. ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com , saowaporn@hotmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การศึกษา
Top 5 ข่าวการศึกษา ![]()
- อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำเจ้าอาวาสวัดดอนยางร้องขอออกโฉนดที่ดิน 2 พ.ค. 2568
- ซักซ้อมดำเนินการสอบครู 2 พ.ค. 2568
- สร้างวัดไทยแห่งแรกใกล้พุทธสถาน “ถ้ำอชันต้า” มรดกโลก ประเทศอินเดีย 2 พ.ค. 2568
- ตร.ไซเบอร์ จับมือ มจธ.ปั้นนักรบไซเบอร์รุ่นใหม่ ในศึก “Cyber Warrior Hackathon 2025” 2 พ.ค. 2568
- แห่ชมเทศกาลภาพยนตร์รัสเซีย2025 "เรือเหาะผจญภัยแดนมหัศจรรย์" และ “หัวใจคุณธรรม” ครองใจคอหนัง 2 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดการศึกษา ![]()
เตรียมจัดทำแผนกลยุทธ์ส่งเสริมสำนักปฏิบัติธรรม ยกระดับการสอนและการปฏิบัติธรรมกรรมฐานสู่สังคมไทยและสังคมโลก 18:12 น.
- สพป.พัทลุง เขต 2 พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการเรียนรวม 17:40 น.
- “งานใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” 26 เม.ย.นี้ ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ 17:27 น.
- เหลืออีก 2 วันเท่านั้น งานใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ คนแน่นทุกวัน ถูกใจคนทุกวัย ของขายดี ปังไม่หยุด 17:05 น.
- จัดใหญ่! “ศุภชัย” เปิดกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 15 เวทีวิจัยนวัตกรรมระดับเยาวชน พัฒนากำลังพลด้านวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต 16:53 น.