วันจันทร์ ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 18:11 น.

การศึกษา

นศ.นิเทศฯ มข. ผลิตหนังสั้น เข้าชิงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กระตุ้น soft power

วันอังคาร ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566, 11.17 น.

นศ.นิเทศฯ มข. ผลิตหนังสั้น เข้าชิงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กระตุ้น soft power

 

ท่ามกลางกระแสอุตสาหกรรมบันเทิง  ภาพยนตร์ไทย นับเป็น soft powerที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจากจะสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีไทย วิถีชีวิตชาวไทยเข้าไปในเนื้อเรื่องแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเม็ดเงิน เศรษฐกิจไทย ให้เติบโตอย่างมาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยผลเจรจาการค้าของไทยในงานแสดงสินค้า Marché du Film  ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 76 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ผ่านมาว่า มีผู้ประกอบการไทยจำนวน 10 บริษัท ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงาน  มีนักลงทุน ผู้สร้าง และผู้ซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยรวม 271 นัดหมาย สามารถสร้างมูลค่าเจรจาการค้าได้ 1,986 ล้านบาท

 

 

 

แน่นอนว่าในยุคที่ทุกคนเข้าถึงสื่อ การทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถของชาวไทย  เพราะมีกลุ่มเยาวชนความหวังใหม่ที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ในศิลปะการสร้างภาพยนตร์ ชมรม “Mix Media”  กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มี Passions ในการสร้างภาพยนตร์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก    ได้ผลิตหนังสั้นเรื่อง “TOO FAR TOO CLOSE” ผลงานของนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิง ในสาขา “Fiction” ในเทศกาลหนังสั้น “CCCL Film Festival 2023 โลกป่วย เราต้องเปลี่ยน” ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ  จากหนังสั้นทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 231 เรื่อง                

 

นางสาวสุทธิรัก สิงห์ชารี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขานิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีสื่อสร้างสรรค์ คณะวิทยาลัยนานาชาติ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  ภาพยนตร์สั้นเรื่อง TOO FAR TOO CLOSE ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Interstellar (2014)  เรื่องจริงของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ผู้คนใช้ชีวิตตนเอง ต่างคนต่างดำเนินชีวิตไป  โดยส่วนมากไม่สนใจอะไรเลย แต่สภาพแวดล้อมภายนอกกลับแย่มาก ๆ ตัดภาพกลับไปมาโดยมีมิติทับซ้อนให้น่าสนใจมากขึ้น

 

จากการได้รับคัดเลือกดังกล่าวทำให้นักศึกษาชมรม “Mix Media”  มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้การทำภาพยนตร์กำผู้กำกับระดับฮอลลีวูด รวมทั้งรุ่นพี่ในวงการภาพยนตร์อย่าง อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับชาวไทย ที่ดันภาพยนตร์ solid by the seashore คว้า 2 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 มาหมาดๆ และกระทบไหล่ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายประเทศทั่วโลก

 

 

“ เมื่อช่วงสถานการณ์โควิดทำให้การเรียนในภาคปฏิบัติลดน้อยลง เราจึงคิดกันว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง  เพื่อให้ได้เรียนรู้เพิ่ม ภายใต้แนวคิดว่า วิ่งหาโอกาส เพื่อโอกาสที่ดีกว่า จึงตัดสินใจกับกลุ่มเพื่อน 9 คน ผลิตหนังสั้นส่งเข้าประกวด โดยไม่คาดคิดว่าจะได้รับการคัดเลือกถูกเสนอชื่อให้เข้าชิง ในสาขา Fiction ในเทศกาลหนังสั้นระดับนานาชาติ CCCL Film Festival 2023”

 

“เราเหมือนโดนจุดไฟ พิสูจน์ให้เห็นว่า เราเองก็สามารถไปอยู่ที่ตรงนั้นได้ ที่เดียวกันกับคนเหล่านั้นที่เก่งมาก ๆ แบบไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้ยืนคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขา มันเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำมาก ๆ ยิ่งพอพี่อิฐ พูดว่าฝากถึงน้องคนรุ่นใหม่ในวงการอุตสาหกรรมหนัง พวกน้องคือพลังในการสร้างสรรค์สื่อ ในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อความก้าวหน้า พัฒนาของวงการหนัง ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น”

 

 

สุทธิรัก  ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันค่านิยมของนักศึกษาที่เรียนสาขาด้านภาพยนตร์มักมองถึงเรื่องสุขภาพ สวัสดิการ ค่าตอบแทน การให้เกียรติคนทำสื่อเบื้องหลัง ที่สวนทางกับทักษะมาตรฐานการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ที่ต้องใช้แรงกายอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนายทุนกับความสมดุลด้านเนื้อหามักเป็นอุปสรรคในการทำงาน การที่ตนได้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนในงาน พบว่าทุกคนมีแนวร่วมตรงกันคือพยายามอยากขับเคลื่อนปฏิวัติวงการนี้ให้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตตนอยากเป็นคนทำภาพยนตร์และเป็นลมใต้ปีกพิสูจน์ให้เห็นว่าการอยู่รอดในวงการ คุ้มค่าไม่แพ้วงการอื่น ๆ

 

สอดคล้องกับกระแสหนังไทยชื่อดังที่สอดแทรกวัฒนธรรม เรียนรู้ประเพณี ความเชื่อแบบอีสาน ที่ยอมรับว่าการแบกรับความเสี่ยงขาดทุนนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมหนังไทย  แต่การยืนหยัดต่อสู้ของกลุ่มเยาวชนไทบ้านเดอะซีรี่ย์ ภาพยนตร์ที่สร้างโดยเยาวชนคนอีสานที่กำลังโกยเงินมากกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นหนังไทยที่สามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมากที่สุดในรอบ 8 ปี นั่นเป็นที่ยืนยันและพิสูจน์แล้วว่า ภาพยนตร์ไทย จะสามารถเป็น soft power ไทยสู่เวทีโลกได้ไม่ยาก

 

สถานการณ์ในปัจจุบันจึงเรียกได้ว่ากลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นความหวังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยคงไม่ผิดเพี้ยนนัก  ยิ่งหากทุกภาคส่วนช่วยกัน ทั้งอาศัยเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังแห่งการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ รัฐบาลสนับสนุนเรื่องนโยบายการเจรจาการค้าและวางนโยบายโครงสร้างพื้นที่ฐานระบบสวัสดิการให้เอื้อต่ออุตสาหกรรม และเอกชนหนุนช่วยงบประมาณ เชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักทัดเทียมนานาชาติได้ในที่สุด ท่านที่สนใจสามารถชม ตัวอย่างภาพยนตร์สั้น TOO FAR TOO CLOSE    ได้ที่ TOO FAR TOO CLOSE l Official Trailer

หน้าแรก » การศึกษา