วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 23:41 น.

การศึกษา

“ศุภมาส” นำวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาอุตสาหกรรม “น้ำมันรำข้าว” ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

วันอังคาร ที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2567, 11.08 น.

“ศุภมาส” นำวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาอุตสาหกรรม “น้ำมันรำข้าว” ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เปิดห้องปฏิบัติการอ้างอิง กรมวิทย์บริการ ช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออก 1 หมื่นล้านบาท 

เมื่อวันที่ 7  พฤษภาคม 2567     นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยมี “ข้าว” เป็นสินค้าหลักมีการเพาะปลูกปริมาณมาก ผลพลอยได้จากการขัดสีข้าวทำให้ได้ “รำข้าว” ปัจจุบันมีภาคเอกชนนำรำข้าวมาสกัดน้ำมันปีละกว่า 800,000 ตัน มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันรำข้าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรูปแบบ BCG Economy Model  ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ตนได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ตั้งแต่รากฐานการผลิตวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูปจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยการตรวจสอบรับรองคุณภาพ ตลอดจนการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Specification) ที่สามารถบ่งชี้ถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และได้เปิดห้องปฏิบัติการอ้างอิงทดสอบคุณภาพอาหารและน้ำมันรำข้าว และห้องปฏิบัติการเครือข่าย

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของท่านรัฐมนตรี อว. ที่ให้มีการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันรำข้าวด้วยการใช้กลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้ วศ.อว. ได้เปิดห้องปฏิบัติการอ้างอิงทดสอบคุณภาพอาหารและน้ำมันรำข้าวด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทันสมัย นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพและมีการบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดย วศ.อว. มีการพัฒนาวิธีวิเคราะห์ทดสอบหาชนิดและปริมาณสารสำคัญในน้ำมันรำข้าว ให้บริการทดสอบคุณภาพน้ำมันรำข้าวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ วศ. ยังเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organization หรือ SDO) ของประเทศไทย ในการจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล เร่งส่งเสริมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมจากน้ำมันรำข้าวหรือนวัตกรรมกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว เช่น นวัตกรรมอาหาร นวัตกรรมเครื่องสำอาง  นวัตกรรมเครื่องมือในการสกัดน้ำมันรำข้าว เป็นต้น สามารถมาปรึกษาหารือ วศ. ในการวิจัยพัฒนาการทดสอบคุณภาพสินค้านวัตกรรม การกำหนดคุณลักษณะสินค้านวัตกรรม ตลอดจนการผลักดันสินค้าให้สามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้ 

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันรำข้าว ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่มีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันเสมือนห่วงโซ่ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ทำให้ได้น้ำมันรำข้าว นวัตกรรมจากน้ำมันรำข้าวที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนนวัตกรรมกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ขยายตลาดทั้งภายในประเทศและสู่ตลาดโลก เสริมสร้างเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน
 
 

หน้าแรก » การศึกษา