วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 00:14 น.

การศึกษา

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีบริการสังคม ประสานสิบทิศลงพื้นแก้ปัญหาชาวบ้านพื้นที่ตะกุกเหนืออำเภอวิภาวดีไม่มีไฟฟ้าใช้

วันพุธ ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 18.48 น.

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ภูภณัช รัตนชัย บรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น  ผศ.สมชาย บุญคงมาก กรรมการฝ่ายบริการวิชาการ อ.ทศพร จินดาวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และเป็นคณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่ในหมู่ที่ 15 ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อพบปะกับพี่น้องชาวบ้าน และชี้แจงเรื่องปัญหาการไม่มีไฟฟ้าใช้ในเขตพื้นที่ดังกล่าวกับหมู่ที่ 11 ต.ตะกุกเหนือ ในพื้นที่บางส่วนซึ่งประสบปัญหาการไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นกัน โดยสืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา 

การนี้อาจารย์ทั้ง 3 คน  ได้ชี้แจงความคืบหน้ากับนายไชยะ ลักษณะปิยะ และนายวิโรจน์ เสาวพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 15 และหมู่ที่ 11 พร้อมกับพี่น้องชาวบ้านที่เข้ามาร่วมประชุมในครั้งนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ตนเองได้เดินทางไปพบกับนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการประสานงานจากนายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดท่านได้แนะนำว่าให้นำเรื่องดังกล่าวประสานไปยังอำเภอวิภาวิดีและเสนอต่อมายังจังหวัด เพื่อจะได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินการต่อไป

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 11.00 น. นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาสมทบพร้อมกับชี้แจงเพิ่มเติมในการช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านในครั้งนี้ว่า ตนได้ประสานข้อมูลเบื้องต้นไปยังนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบและจะได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป 

หลังจากนั้น นายกีรติ เพชรทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงได้เดินทางมาสมทบเพื่อร่วมชี้แจงในปัญหาดังกล่าวว่า จะประสานไปยังสำนักงานการไฟฟ้าอำเภอคีรีรัฐนิคม ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อจะได้เข้ามาร่วมกันตรวจสอบ หาแนวทางในการนำไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ นำความปิติยินดีให้แก่พี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
    
ผศ.ดร.ภูภณัช รัตนชัยได้กล่าวขอบคุณทุก ๆ ฝ่ายที่เห็นถึงความจำเป็นในด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ดังกล่าวที่ยังขาดแคลนและให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานอย่างเต็มกำลัง ทำให้พี่น้องชาวบ้านได้รับประโยชน์ในครั้งนี้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นมหาวิทยาลัยแห่งท้องถิ่นมีภาระหน้าที่ในการประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 นับว่าเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญ จึงพร้อมทำหน้าที่และประสานงานได้กับทุก ๆ ฝ่าย เพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง

หน้าแรก » การศึกษา