วันศุกร์ ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2568 21:08 น.

การศึกษา

กรมการศาสนาร่วมกับวัดประยุรวงศาวาสจับมือชุมชนกะดีจีน-คลองสาน ร่วมใจจัดงาน เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด สมโภชพระอาราม 197 ปี สืบสานวัฒนธรรมไทย สุดยิ่งใหญ่ 

วันศุกร์ ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2568, 10.46 น.

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568  พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าวสัมโมทนียกถาว่า วัดประยุรวงศาวาส เรียกกันว่า "วัดรั้วเหล็ก" เป็นพระอารามหลวง ชั้นโทชนิดวรวิหาร ที่สมเด็จพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างขึ้นเป็นวัดใน พ.ศ.2371 เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาคลังว่าที่กรมทำ และพระสมุหกลาโหม โดยได้ถวายเป็นอารามหลวง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้รับพระราชทานนามว่า วัดประยุรวงศาวาส จนถึงปัจจุบันมีอายุ 197 ปี สำหรับการจัดงานสมโภชพระอาราม 197 ปี เพื่อให้ประชาชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้รักษาดูแลวัดวาอารามให้เจริญก้าวหน้ามีบทบาทต่อสังคมต่อไป เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งแก่วัดและสังคม ภายใต้แนวทางการจัดการ บวร ยกกำลังสอง เชื่อมโยงบริบทสังคมในทุกมิติ บ้าน วัด โรงเรียน บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคม ราชการ งานวัดสร้างรายได้ให้คนในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ การร่วมกันจัดงานในทุกปีทำให้งานสมโภชวัดประยูรฯ เป็นเทศกาลที่คงรูปแบบเทศกาลงานวัดแบบ ดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ในย่านฝั่งธนบุรี เกิดเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาชุมชนเมือง วัดประยุรวงศาวาส เปรียบเสมือนศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของชาวไทย ย่านกะดีจีนฝั่งธนบุรี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างดีตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จึงถือเป็นย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุด แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนา ร่วมกับองค์การทางศาสนาบูรณาการความร่วมมือกับ วัดประยุรวงศาวาส ชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน สำนักงานอาชีวศึกษา มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายของกรมการศาสนา จัดกิจกรรมเสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด ภายใต้งาน “สมโภชพระอาราม 197 ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” ระหว่างวันที่ 11 – 13 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 23.00 น. ณ วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นการจัดงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์ของชุมชนกะดีจีน-คลองสาน ร่วมชมการแสดงทางวัฒนธรรมอีกมากมาย ได้อุดหนุนสินค้าชุมชน ทั้งอาหารท้องถิ่นของเด็ด โดยเฉพาะ “ขนมบ้าบิ่น” เป็นขนมไทยโบราณ ผ่านนักบวชนิกายโรมันคาทอลิกชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาอยู่ในประเทศไทย มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ขนมหวานชื่อ ขนมเกชาดัส เด โกอิมบรา (Queijadas de Coimbra) หรือทาร์ตไส้ชีสสดจากเมืองโกอิมบราของโปรตุเกส ตัวทาร์ตหรือแป้งที่ห่อด้านนอกทำจากแป้งสาลี นวดให้เข้ากันกับเนยรีดเป็นแผ่นบางๆ แล้วเทไส้ชีสสดลงไป ต่อมาหาวัตถุดิบชีสสดที่มีรสสัมผัสมันๆ นุ่มๆ หยุ่นๆ ได้ยาก จึงใช้มะพร้าวทึนทึกขูดฝอยผสมหัวกระทิ จึงได้รสสัมผัสมันๆหนึบๆคล้ายกัน และยกเลิกแป้งทาร์ตเหลือแต่ไส้ โดยผ่านการอบจนผิวสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน ซึ่งชื่อเดิมยาวเกินไปชาวสยามจึงเรียกตามพยางค์สุดท้ายว่า “บรา” จึงเพี้ยนไปด้วยสำเนียงไทยๆ ว่า“ขนมบ้าบิ่น” เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน 

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า ในงานนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การประกวดและการแสดงทางด้านวัฒนธรรมจากเวทีการแสดงต่าง ๆ และร้านค้าชุมชนในย่านกะดีจีน-คลองสาน มากกว่า 100 ร้านค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายการทำงานตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โครงการสารพัดสรรพศิลป์ โครงการ OTOP Junior ร่วมด้วยกิจกรรมประกวด อาหาร 3 ศาสน์ “ร้านดีศรีชุมชน กะดีจีน-คลองสาน ปี 4” เพื่อยกระดับร้านค้าชุมชนที่มาออกร้านให้มีมาตรฐาน และเพื่อรักษาชื่อเสียงร้านค้าชุมชน โดยกรมการศาสนาบูรณาการผสานความร่วมมือกับ วัดประยุรวงศาวาส ชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน สำนักงานอาชีวศึกษา มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายของกรมการศาสนา ทั้งนี้ ได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงชุดนาฏศิลป์ไทยประยุกต์ และร้องเพลงประกอบแดนเซอร์จากโรงเรียนวัดลาดปลาเค้า ,การแสดงโปงลางร่มจิกออนซอน (ศพอ.วัดนาคปรก) , การแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค ฟ้อนขันดอก (ภาคเหนือ) ระบำครุ (ภาคกลาง) ฟ้อนไทยพวน (ภาคอีสาน) และภูมิใจใต้ (ภาคใต้) จากโรงเรียนนาหลวง และการแสดง ครื้นเครงเพลงพื้นบ้าน จาก ศพอ.วัดพรหมวงศาราม รวมทั้งออกบูธร้านค้าและบูธกิจกรรม อาทิ บูธขนมบ้าบิ่น จากกรมการศาสนา, บูธซาโมซ่า จากสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา บูธผัดไทย-ชาอินเดีย จากสมาคมฮินดูสมาช บูธเคบับ จากสำนักจุฬาราชมนตรี บูธยำขนมจีน & ทองพับ จากวัดนาคปรก บูธขนมจีนน้ำเงี๊ยว จากชุมชนวัดประยุรวงศาวาส

การจัดงานนี้ยังคงรูปแบบเทศกาลงานวัดแบบดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ในย่านฝั่งธนบุรี อันเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาชุมชนเมือง ซึ่งวัดประยุรวงศาวาส เปรียบเสมือนศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของชาวไทยย่านกะดีจีนฝั่งธนบุรี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างดี ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจึงถือเป็นย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ภายในวัดประยุรวงศาวาส มีกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมสักการะความมหัศจรรย์อันงดงาม และบูชาความศักดิ์สิทธิของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ หนึ่งเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งจากองค์การยูเนสโก สักการะพระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดาพระประธานในพระอุโบสถ สักการะพระพุทธนาคในพระวิหาร สักการะพระพุทธนาคปรกพันปีในพิพิธภัณฑ์ สักการะพระพุทธรูปหยกขาว (ปางปฐมเทศนา) สักการะหลวงพ่อแขกในเขามอ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมทางศาสนา สืบสานประเพณีไทยแล้ว ยังเป็นการ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ได้รักษาดูแลวัดเป็นศาสนสถานซึ่งมีบทบาทต่อสังคม ภายใต้แนวทางการจัดการ บวร ยกกำลังสอง เป็นการเชื่อมโยงบริบทสังคมในทุกมิติ บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และพื้นที่โดยรอบ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 

หน้าแรก » การศึกษา