การศึกษา
วว.ผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

วว.ผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม
ปัจจุบันความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสารลดแรงตึงผิวที่ผลิตจากธรรมชาติ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในสารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม คือ เมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนต (Methyl ester sulfonate : MES) ที่ผลิตจากน้ำมันพืช ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประสิทธิภาพการทำความสะอาดที่ดี โดยเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตที่ผลิตจากน้ำมันพืช สามารถใช้ทดแทนสารลดแรงตึงผิวที่ผลิตจากปิโตรเคมี ซึ่งย่อยสลายได้ยากและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ทั้งนี้ เมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนต เป็นสารลดแรงตึงผิวประจุลบที่ได้จากกระบวนการซัลโฟเนชัน ของเมทิลเอสเทอร์ที่มาจากน้ำมันพืชชนิดต่างๆ (เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น) กับแก๊สซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) อย่างไรก็ตาม แก๊สซัลเฟอร์ไตรออกไซด์เป็นแก๊สที่มีความไวต่อปฏิกิริยาสูง เมื่อเกิดปฏิกิริยารุนแรงจะควบคุมปฏิกิริยาได้ยาก และส่งผลทำให้คุณภาพของเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตลดลง นอกจากนั้นแก๊สซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ยังมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง หากมีการรั่วไหลจะมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ อีกทั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการยังมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะในส่วนของระบบความปลอดภัยและการควบคุมการผลิต
ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงดำเนิน โครงการวิจัยการผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ร่วมกับบริษัท สุขสมบูรณ์พัฒนาน้ำมันพืช จำกัด ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มจากน้ำมันปาล์ม ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศ และเป็นแรงจูงใจในการสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีที่มีมูลค่าสูงในอนาคต
โดยโครงการวิจัยมุ่งผลิตเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตจากเมทิลเอสเทอร์จากน้ำมันปาล์ม ผ่านกระบวนการซัลโฟเนชัน (sulfonation) โดยใช้สารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยกว่าแก๊สซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มนี้ เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังตอบสนองความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม
กระบวนการผลิตเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตจากน้ำมันปาล์ม เริ่มต้นจากการเปลี่ยนน้ำมันปาล์มให้เป็นเมทิลเอสเทอร์ผ่านกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน จากนั้นนำเมทิลเอสเทอร์มาทำปฏิกิริยาซัลโฟเนชัน ซึ่งเป็นการเติมหมู่ซัลโฟเนต ตรงตำแหน่งพันธะคู่ของเมทิลเอสเทอร์ เกิดเป็นเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตชนิดโซ่กิ่ง (Branched-chain MES) ที่มีคุณสมบัติเหมาะต่อการนำไปใช้เป็นสารลดแรงตึงผิว
ผลทดสอบผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตจากน้ำมันปาล์มนี้มีความเข้มข้นวิกฤตไมเซลล์ (Critical micelle concentration : CMC) เท่ากับ 2 กรัมต่อลิตร และมีค่าแรงตึงผิว ณ จุด CMC เท่ากับ 30 มิลลินิวตันต่อเมตร และผลทดสอบมุมสัมผัส 58.75 องศา แสดงให้เห็นว่า มีความสามารถในการกระจายตัวบนพื้นผิวได้ดี
จุดเด่นของเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตชนิดโซ่กิ่งที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มผลงานวิจัยพัฒนาของ วว. มีดังนี้ 1.ผลิตจากน้ำมันปาล์ม (Plant-based) 2.ย่อยสลายตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.มีความสามารถในการละลายน้ำที่ดี (Higher solubility) 4.มีความสามารถในการทำให้เปียกได้ง่าย (Superior wetting ability) 5.ความเสถียรของฟองต่ำ (Lower foam stability) ทำให้ล้างออกได้ง่าย
ทั้งนี้ วว. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมทิลเอสเทอร์ซัลโฟเนตผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ บริษัท สุขสมบูรณ์พัฒนาน้ำมันพืช จำกัด (ในฐานะผู้ร่วมให้ทุนวิจัย) ซึ่งครอบคลุมทั้งหลักการทางวิชาการและปฏิบัติการ โดยผู้เข้าอบรมมีส่วนร่วมตั้งแต่การเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการ และการทดลองปฏิบัติจริง นอกจากนี้ วว. ยังพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ให้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจปาล์มน้ำมันหรือ ไบโอดีเซล ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สารลดแรงตึงผิวชีวภาพ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่หลากหลายและมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การศึกษา
Top 5 ข่าวการศึกษา ![]()
- มส.เห็นชอบแก้กฎนิคหกรรม เร่งพิจารณา "ปาราชิกพระเสพเมถุน" ให้จบใน 10 วัน 21 ก.ค. 2568
- ศน. จัดงาน “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา” ส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามเป็นประธาน 21 ก.ค. 2568
- สุโขทัย เขต 2 พัฒนาสมัชชาเครือข่ายความร่วมมือช่วยเหลือนักเรียน 21 ก.ค. 2568
- "นฤมล" แจงแต่งกายเพื่อความคล่องตัว ลุยพื้นที่วันหยุดรับฟังปัญหาของครู-นักเรียน ขอสังคมหันโฟกัสงานพัฒนาการศึกษาไทย 21 ก.ค. 2568
- รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายก-กรรมการ-อธิการบดี มทร.ธัญบุรี 21 ก.ค. 2568
ข่าวในหมวดการศึกษา ![]()
มก. เปิดมุมมองใหม่ในเวทีเสวนา Inspiration for Success 00:03 น.
- CP ALL เดินหน้าโมเดล “สร้างผู้นำสถานศึกษาแห่งอนาคต” กว่า 50 แห่งทั่วประเทศรับมือการศึกษาในยุคดิจิทัล 17:25 น.
- "นฤมล" เยี่ยม รร.เบญจมราชูทิศ ปฏิรูปการศึกษา จ.นครศรีฯ ลั่น 3 เดือน แก้หนี้ครูได้ เตรียมดึงแบงก์รัฐทุ่มแสนล้าน ทำสหกรณ์กลาง สกสค. 13:51 น.
- “เจ้าคุณหรรษา” โต้กระแสโทษผู้หญิง ปมคดีฉาวในสงฆ์ ชี้ศัตรูแท้พรหมจรรย์คือกิเลส ไม่ใช่เพศหญิง 13:01 น.
- เปิดโครงการ “Sahapat Admission” ปีที่ 28 ติวฟรี ติวเข้มข้นทุกสนามสอบ 12:15 น.