การศึกษา
"ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร" ห่วงผู้สูงวัยไร้แผนบั้นปลาย ชี้สังคมไทยต้องเรียนรู้ "การตายอย่างมีระบบ"
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

ผู้สูงอายุไทยกำลังเผชิญความท้าทายไร้แผนรองรับชีวิตหลังเกษียณ ดร.ทวารัฐแนะเร่งเรียนรู้การวางแผนชีวิต การเงิน อารมณ์ และสุขภาพ เพื่ออยู่และจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่เป็นภาระ
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD เปิดเผยมุมมองล่าสุดเกี่ยวกับการเรียนรู้สำหรับ ‘ผู้ใหญ่ใกล้เกษียณ’ โดยระบุว่า ขณะนี้ประเด็นที่ตนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงวัยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างจริงจัง ด้วยเหตุว่า สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในบั้นปลายชีวิตของคนแก่ อาจเป็นเพียงบ้านหลังหนึ่ง การมีชีวิตอย่างอิสระโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่ถ้าไม่มีแผนจัดการ ก็อาจกลายเป็นภาระทั้งต่อตัวเองและลูกหลาน
ดร.ทวารัฐ ยกตัวอย่างจากประเทศตะวันตก ที่มีการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Reverse Mortgage หรือ ‘สินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบย้อนกลับ’ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยจำนองบ้านกับธนาคาร แลกกับรายได้ประจำ โดยยังคงสิทธิในการอยู่อาศัยได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน หรือรอเงินเดือนจากคนในครอบครัว
ดร.ทวารัฐ ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญคือ ‘การเรียนรู้เรื่องมรดก’ โดยเน้นว่าการแบ่งสมบัติ ควรเริ่มแบ่งตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ และควรแบ่งอย่างมีสติ ไม่ใช่มอบให้ลูกหลานทั้งหมด แต่เผื่อไว้เพื่อการดูแลตนเองในยามชรา พร้อมย้ำว่า ‘การให้โดยไม่มีแผน‘ อาจกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ลูกหลานแทนที่จะเป็นการส่งเสริม นอกจากนี้ สังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ สังคมผู้สูงอายุเดี่ยว อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ค่านิยมแบบครอบครัวแน่นแฟ้นอาจเปลี่ยนไป คนรุ่นหลังอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดูแลผู้สูงวัย หากไม่มีระบบสนับสนุนหรือความเข้าใจที่ดี
“ความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องงดงาม แต่ในโลกยุคใหม่ หากพ่อแม่ไม่เตรียมตัวไว้ก่อน ลูกหลานก็อาจไม่มีแรงพอจะดูแลได้เต็มที่ ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ จิตใจ ความปลอดภัย การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การเงิน และอื่นๆ จนสุดท้ายผู้สูงวัยเองก็อาจไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างที่ควร” ดร.ทวารัฐย้ำ
นอกจากนี้ ดร.ทวารัฐ ยังเชื่อว่า สังคมไทยต้องเริ่มส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการวางแผนในช่วงปลายของชีวิตอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำได้หลายอย่าง โดยเริ่มจาก ‘การวางแผนทางการเงิน’ จัดการทรัพย์สินและเงินออมเพื่อให้สามารถดูแลตัวเองในช่วงปลายของชีวิต เช่น วางแผนการเกษียณ จัดการหนี้สิน ประกันสุขภาพ หรือวางแผนการสืบทอดทรัพย์สินให้แก่ทายาท หรือ ‘การเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ’ เช่น ประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม รวมถึง ‘การเตรียมพร้อมทางอารมณ์และจิตใจ’ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การสูญเสีย การเกษียณ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม และที่สำคัญคือ “การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในวัยหลังเกษียณ” เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในช่วงวัยนี้ อย่าง เช่น พัฒนางานอดิเรก มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เพื่อเสริมสร้างความสุข และสุดท้ายคือ ‘การวางแผนการสิ้นสุดชีวิต’ เช่น จัดทำพินัยกรรม หรือ วางแผนจัดการสิ่งต่างๆ หลังจากที่ผู้สูงวัยเสียชีวิต เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถ “อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” และ “จากไปอย่างเป็นธรรมชาติ” โดยไม่ทิ้งภาระหรือความเครียดให้กับคนรุ่นหลัง
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การศึกษา
Top 5 ข่าวการศึกษา ![]()
- "ปฏิญญาโฮจิมินห์" พุทธศาสนิกชนทั่วโลกประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน หนุนศักดิ์ศรีมนุษย์และสันติภาพถ้วนหน้า 8 พ.ค. 2568
- นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด 8 พ.ค. 2568
- คณาจารย์นิติศาสตร์ร่วมหารือผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น แก้ปัญหาไฟฟ้า ถนน ตำบลพลูเถื่อน 8 พ.ค. 2568
- สมัครเรียนปริญญาตรี วันนี้! ความสำเร็จสร้างได้ ที่ ม.รามคำแหง 8 พ.ค. 2568
- มก. เปิดแล้ว ! หลักสูตรพลเมืองเข้มแข็งสำหรับผู้นำอาวุโส รุ่นที่ 1 8 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดการศึกษา ![]()
เยาวชนวิทย์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ชนะเลิศ Thailand Junior Water Prize 2025 15:48 น.
- "ศุภชัย" ชี้มหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่แค่ “แหล่งสอนหนังสือ” แต่ต้อง “ลงไปอยู่ในใจของชุมชน” เป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา สร้างโอกาสใหม่ให้กับชุมชน 11:14 น.
- น้ำมันหอมระเหย “ดอกมะลิลา”สุคนธบำบัดเพื่อการผ่อนคลาย 10:32 น.
- คิกออฟ TU Care & Ageing Society ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อมเป็นกำแพงพิงหลังใน”สังคมสูงวัย” 07:07 น.
- อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำเจ้าอาวาสวัดดอนยางร้องขอออกโฉนดที่ดิน 18:43 น.