วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:25 น.

การศึกษา

"สุรศักดิ์​" เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้และกำหนดกรอบทิศทางในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาฯ​

วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 13.59 น.

"สุรศักดิ์​" เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้และกำหนดกรอบทิศทางในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาฯ​ ชู การจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นรูปแบบหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

เมื่อวันจันทร์ ​ที่​ 12 พฤษภาคม​ 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้และกำหนดกรอบทิศทางในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 
ระหว่างวันที่ 11 - 13 พฤษภาคม 2568​ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ระยอง ซิตี้ เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง​ โดยมี​ นางสาวสลารีวรรณ​  ทัพทวี​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง​ นายสุเทพ​ แก่งสันเทียะ​ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ​ นางวันเพ็ญ​ บุรีสูงเนิน​ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ​ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 8​ ครูและบุคลากรทางการศึกษา​ ร่วมให้การต้อนรับ


นายสุรศักดิ์​ กล่าวว่า​ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างการรับรู้และกำหนดกรอบทิศทาง ในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันนี้ จากคำกล่าวรายงาน ของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ทำให้เห็นถึงความสำคัญ ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการกำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินงานของพื้นที่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตลอดจน ให้ความสำคัญกับการสร้างกลไก การจัดการศึกษาร่วมกัน ระหว่างภาครัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้บรรลุเป้าหมาย ตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 การจัดการศึกษาในพื้นที่ นวัตกรรมการศึกษา เป็นรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจัดการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้สถานศึกษานำร่อง ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้ง 1,680 แห่ง มีอิสระในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษา มีความคล่องตัว สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ อันจะนำไปสู่การยกระดับ การจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ของ 
การพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ สามารถเผชิญกับความท้าทาย กับโลกในยุคปัจจุบันและอนาคตได้  

"สำหรับ​ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเป็นเวลาเจ็ดปี​ ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และจะถึงกำหนดในปี พ.ศ. 2569 เหลือระยะเวลาดำเนินการ  1 ปี ดังนั้น ผลการดำเนินงาน การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้ง 20 จังหวัดรวมไปถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียน ครู สถานศึกษา และชุมชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการพิจารณา ต่อ/ขยาย อายุของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงาน ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนำร่อง ทั้ง 20 จังหวัด นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์ ที่จะได้นำมาแลกเปลี่ยน​เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งผลการดำเนินงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีตลอดจนปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข นอกจากนี้ กิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ของสถานศึกษานำร่อง ซึ่งเป็นแหล่ง เรียนรู้ข้อมูลในเชิงประจักษ์ จากสถานที่และวิธีการปฏิบัติจริง จะเป็นประโยชน์และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จังหวัดของตนเองต่อไป​ ทั้งนี้ขอขอบคุณ คณะผู้จัดงาน หน่วยงานทางการศึกษา ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกัน วางแผนการบริหารจัดการศึกษา ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการ และบริบทของพื้นที่ ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ขอเป็นกำลังใจในการทำงาน ให้กับทุกท่าน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และขออำนวยพรให้การจัดโครงการฯในครั้งนี้ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ทุกประการ" รมช.สุรศักดิ์​ กล่าว

หน้าแรก » การศึกษา