วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 06:31 น.

การเงิน หุ้น

CKPower จ่อ COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีขายไฟ 1.2 พันเมกะวัตต์

วันอังคาร ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 18.32 น.

CKPower เตรียม COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขายไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์ ให้แก่ กฟผ. ภายในเดือนตุลาคมนี้

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ “CKP” ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 7 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 1,220 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังที่บริษัทฯ ได้ทยอยเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เป็นไปอย่างราบรื่น มีความเสถียรและมั่นคง โดยในช่วงทดสอบระบบไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการขายไฟฟ้าราคาถูกก่อนการขายไฟเชิงพาณิชย์ และบริษัทฯ มั่นใจพร้อมส่งไฟฟ้าสะอาดสู่ประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้นแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EdL) จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ ภายใน สปป.ลาว

ทั้งนี้ กฟผ.ได้อนุมัติการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มซื้อไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวดเพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลัก ที่รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉินกรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง โรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตชดเชยส่วนที่ขาดได้อย่างทันท่วงทีภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงถือเป็นข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพการจ่ายไฟในระบบของ กฟผ. โดยการทดสอบระบบพร้อมกันทั้ง 7 เครื่อง มีทั้งแบบทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สามารถเดินเครื่องแบบมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่ง CKPower ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มั่นใจว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีผลกระทบต่อท้ายน้ำ ยังคงสภาพทางธรรมชาติตลอดเวลา ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นและกลุ่มนักลงทุน นอกจากการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ได้ทันตามเวลาอย่างพร้อมสมบูรณ์แล้ว แนวทางการลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำของ CKPower  ยังคงคำนึงถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับแรกของการบริหารโครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนเพื่อรักษาระบบนิเวศของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สูงถึง 19,000 ล้านบาท มีการศึกษาก่อนเริ่มโครงการและเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยมีธรรมชาติเป็นต้นแบบ ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อให้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นมาตรฐานที่สำคัญว่าหากจะลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงต้องกล้าที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วยถึงจะทำให้การผลิต ไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงนั้นยั่งยืน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัยด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำ มีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย ที่สำคัญคือศึกษาบนลำน้ำโขงด้วยพันธุ์ปลาน้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการ ศึกษาพฤติกรรมปลาน้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดของโลก ในขณะนี้

สำหรับ CKPower เป็นบริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย  โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์