วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 22:07 น.

ต่างประเทศ

ข่าวดี “วัคซีนโควิด-19” มีประสิทธิผลแม้เจอไวรัสกลายพันธุ์

วันศุกร์ ที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 19.15 น.

ข่าวดี งานวิจัยออสเตรเลียชี้ “วัคซีนโควิด-19” ยังมีประสิทธิผลแม้เจอ “ไวรัสกลายพันธุ์”

แคนเบอร์รา, 9 ต.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 ต.ค.) องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) หน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย ได้เผยแพร่การค้นพบที่ชี้ว่า กลายพันธุ์ของไวรัสนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีศักยภาพต้านโรคโควิด-19

ผลการวิจัยดังกล่าวได้ขจัดความหวาดกลัวที่ว่าวัคซีนที่ได้จะไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่แบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ และเป็นไวรัสที่ล้วนก่อให้เกิดโรคโควิด-19

การศึกษาระบุว่าวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองส่วนใหญ่มีต้นแบบการผลิตมาจากไวรัส ‘สายพันธุ์ดี’ (D-strain) ที่พบมากในการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไวรัสดังกล่าวได้กลายพันธุ์จนเกิดเป็น ‘สายพันธุ์จี’ (G-strain) หรือ ‘ดี614จี’ (D614G) ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 85 ของจีโนมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)

ทีมวิจัยขององค์การฯ ได้ทำการทดสอบไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ในเลือดของพังพอนที่ถูกฉีดวัคซีน ‘ไอเอ็นโอ-4800’ (INO-4800) อันเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทอิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคัลส์ (Inovio Pharmaceuticals) และพบว่าวัคซีนมีประสิทธิผลต่อทั้งสายพันธุ์ดีและจี

“โลกเข้าใกล้วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการปกป้องและช่วยชีวิตผู้คนไปอีกก้าว” แลร์รี มาร์แชล ผู้บริหารสูงสุดขององค์การฯ แถลง

“การวิจัยด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในเชิงลึกร่วมกับพันธมิตรทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลกเท่านั้น”

ผู้เขียนหลักของการศึกษา เอส.เอส.วาซาน (S.S. Vasan) จากทีมแดนเจอรัส พาโธเจนส์ (Dangerous Pathogens) ขององค์การฯ กล่าวว่าการค้นพบนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับวัคซีนหลายร้อยตัวที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลก

“วัคซีนโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการทดลองส่วนใหญ่มุ่งเป้าที่สไปก์โปรตีนหรือโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัส เนื่องจากสไปก์โปรตีนจะไปจับกับตัวรับชนิดเอซีอี2 (ACE2) ที่อยู่ในปอดและทางเดินหายใจของเรา ซึ่งเป็นจุดที่เชื้อจะเข้าสู่เซลล์” วาซานกล่าว

“แม้ยีนกลายพันธุ์ ‘ดี614จี’ จะเกิดขึ้นที่สไปก์โปรตีน แต่เราได้ดำเนินการทดลองและการสร้างแบบจำลองหลายครั้งจนยืนยันได้แน่ชัดว่าวัคซีนจะยังคงมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัส

นอกจากนี้เรายังพบแนวโน้มว่าไวรัสสายพันธุ์จีไม่จำเป็นต้องใช้ ‘วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะ’ อยู่บ่อยครั้งเหมือนกับไวรัสหลายสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดตามฤดูกาลและจำเป็นต้องมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ อย่างไข้หวัดใหญ่

 

CR : สำนักข่าวซินหัว