วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 10:33 น.

ต่างประเทศ

ปล่อยตัวม็อบ! G7ประณามเผด็จการทหารเมียนมาใช้รุนแรง

วันอังคาร ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 16.29 น.

เผด็จการทหารเมียนมาปล่อยตัวม็อบหลายเมือง  ขณะที่ G7ประณามกองทัพใช้ความรุนแรงม็อบ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในภาคเหนือเงียบฉี่ไร้ท่าที ขณะที่  "บิ๊กตู่" ประสานเฝ้าระวังชายแดนสกัดลักลอบหนีเข้าไทย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ได้นำยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงเป็นจำนวนมากติดต่อกันจนมีการหยุดงานปิดร้านชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ผ่านมาก พร้อมกันนี้มีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

ปรากฏว่าวันนี้(23ก.พ.) ผู้ชุนนุมประท้วงได้รับการปล่อยตัวเป็นจำนวนมากเช่นที่รัฐคะฉิน ปียงมานา และเนปิดอว์  ยกเว้นที่รัฐฉานจนถึงตอนนี้มีผู้เข้าร่วมการประท้วงถูกจับกุมตัวไปมากกว่า 300 คนทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล นักเรียน นักศึกษา พยาบาล แพทย์ ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป  ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวแม้แต่คนเดียว 

G7ประณามเผด็จการทหารเมียนมา ใช้ความรุนแรงม็อบ

ผู้สื่อข่างรายงานว่า ที่ประชุมรมต.ต่างประเทศ G7 ประณามกองทัพเมียนมา ใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง เรียกร้องให้ยับยั้งชั่งใจ แก้ไขด้วยสันติวิธี ยืนหยัดเคียงข้างชาวเมียนมา ปล่อยตัวซูจี และผู้นำทางบการเมือง โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำโลก 7 ประเทศ (G7) ออกแถลงการณ์ในวันอังคาร (23 ก.พ.) ว่า ขอ "ประณาม" การใช้ความรุนแรงโดยกองทัพเมียนมาที่มีต่อผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร และขอเรียกร้องให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจ เคารพสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างจริงจัง
          
"การใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ทุกคนต้องตอบสนองผู้ประท้วงด้วยสันติวิธี ผู้ใช้ความรุนแรงต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย" ในแถลงการณ์ระบุ ซึ่งเป็นท่าทีของประเทศสมาชิก G7 ประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐตลอดจนผู้แทนการต่างประเทศของสหภาพยุโรป
          
นอกจากนี้ รัฐต่างประเทศกลุ่ม G7 ยังเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นายวิน มินต์ อดีตประธานเมียนมาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยย้ำว่า กลุ่ม G7 ขอยืนหยัดเคียงข้างชาวเมียนมา ในการเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในภาคเหนือเงียบฉี่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารที่ผ่านมากองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลไปแล้วภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก ผู้สภากอบกู้รัฐฉาน ประกอบด้วย1.สภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือไทใหญ่ใต้ 2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) 3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO) 4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย(DKBA) 5.แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF) 6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF) 7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP) 8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC) 9.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP) 10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านพร้อมยืนอยู่เคียงข้างประชาชน  

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในภาคเหนือได้รวมตัวกัน ในนาม "คณะกรรมการเจรจาทางการเมือง"  (FPNCC) สมาชิกขององค์กรนี้มี 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) 2.กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) 3.กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ(NDAA) หรือเมืองลา 4.กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา(MNDAA) หรือโกก้าง 5.กองทัพรัฐฉานก้าวหน้า (SSPP/SSA) หรือไทใหญ่เหนือ 6. กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) 7.กองทัพอาระกัน (AA)พื้นที่การเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉานเหนือ รัฐคะฉิ่น รัฐชิน และรัฐยะไข่ โดยทั้ง 7 กลุ่ม เป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้เซ็นหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมา มีบางกลุ่มที่ได้เซ็นสัญญาในลักษณะหยุดยิง 2 ฝ่าย ตั้งแต่ก่อนเดือน ต.ค.2538 เช่น กองทัพว้า กองทัพเมืองลา พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ฯลฯ
          
เขตปกครองพิเศษของกลุ่ม FPNCC อย่างน้อย 4 กองกำลังนั้น ติดชายแดนเมียนมา-จีน เป็ฯเสมือนรัฐกันชน เหมือนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนเมียน-ไทย แกนหลักของกลุ่ม FPNCC ในภาคเหนือ ก็คือ เปา โหยวเฉียง ผู้นำสหรัฐว้า และเอ็ม ปาละ ผู้นำองค์กรเอกราชคะฉิ่น ซึ่งมีความสนิทกับจีน มาแต่สมัยที่พวกเขายังเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทางภาคเหนือยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆออกมาและไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันกองทัพรัฐฉานก้าวหน้า (SSPP/SSA)หรือไทใหญ่เหนือได้เข้าโจมตีสภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือไทใหญ่ใต้ของเจ้ายอดศึก ทำให้กองกำลังของเจ้ายอดศึกเสียชีวิตกว่า 10 นาย

แม่สายคึกคักท่าขี้เหล็กเปิดการค้าปกติ
  
มีรายงานว่าที่จุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตรงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เชื่อม จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา กลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดน ต่างทำการขนส่งสินค้าข้ามไปส่งยังฝั่งประเทศเมียนมาและรับสินค้าเกษตรกลับมาอย่างคึกคักอีกครั้ง นับตั้งแต่เปิดด่านพรมแดนเวลา 06.30 น.เป็นต้นไป

ทั้งนี้สำหรับการนัดรวมกลุ่มผู้ชุมนุมในฝั่งท่าขี้เหล็กยังคงมีเหมือนเดิมโดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ไปรวมตัวกันแล้วเดินเป็นขบวนไปตามถนนนายพลอองซาน จากเชิงสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ไปยังแห่งที่ 1 แล้วจึงสลายตัวโดยไม่มีการพากันไปชุมนุมบริเวณด่านพรมแดน เหมือน 2 วันที่ผ่านมาแต่อย่างใด
          
ขณะที่บรรยากาศในตัวเมืองท่าขี้เหล็กพบว่าบรรดาร้านค้าต่างๆ ได้กลับมาเปิดค้าขายกันตามปกติ เช่นเดียวกับโกดังเก็บสินค้าต่างเปิดให้บริการและคนงานก็เข้าไปทำงานตามปกติ ทำให้สินค้าจากฝั่งไทยสามารถขนส่งไปเก็บเพื่อส่งจำหน่ายได้เหมือนเดิม
          
น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย กล่าวว่าสถานการณ์พบว่าสามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ โดยได้รับความสะดวกจากทุกฝ่ายทั้งศุลกากร ทหารตำรวจ ด่านควบคุมโรค ฯลฯ ทำให้มีรถบรรทุกสินค้าทางการเกษตรจากฝั่งไทยข้ามไปรับพืชผลทางการเกษตรในท่าขี้เหล็กกว่า 60 รถพ่วง ขณะที่รถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ก็ข้ามจากฝั่งไทย อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ยังคงต้องควบคู่กับการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

"บิ๊กตู่"ประสานเผด็จการทหารเมียนมาเฝ้าระวังชายแดนสกัดลักลอบหนีเข้าไทย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาอาจส่งผลกระทบการลักลอบข้ามาในประเทศไทยตามแนวชายแดน ว่า เรามีความเข้มข้นมากกว่าเดิม เพราะเราไม่ต้องการให้มีการหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย หรือข้ามชายแดนกลับไปเมียนมา โดยได้มีการเพิ่มกำลังเข้มงวดในพื้นที่ตอนในตามแนวชายแดน พร้อมกับมีการประสานรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบันในการจัดกำลังมาตรวจสอบ กวดขัน เฝ้าระวัง ชายแดนที่ตรงข้ามกับเรา โดยเฉพาะช่องทางที่มักจะมีการลักลอบเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบแอบเข้าไปเล่นการพนัน และการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมาย ตนยืนยันไม่สนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายใดๆทั้งสิ้น

หน้าแรก » ต่างประเทศ