วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 19:28 น.

ต่างประเทศ

เผด็จการทหารเมียนมาแถลงม็อบลด ยอดประชาชนถูกฆ่าพุ่งทะลุ 600 ศพแล้ว

วันเสาร์ ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564, 09.55 น.

วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2564 นายซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ในฐานะโฆษกคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 9 เมษายนว่า รัฐบาลทหารเชื่อว่าปฏิบัติการของรัฐบาลจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า เนื่องจากประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมและหยุดงานประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารลดลงไปเรื่อยๆ โดยรัฐบาลยังกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุสันติภาพและความมั่นคงในทั่วประเทศและกระทรวงต่างๆ จะกลับมาดำเนินงานอย่างเต็มสูบได้ในไม่ช้านี้ นอกจากนี้การค้าระหว่างประเทศของเมียนมายังดำเนินไปตามปกติ ส่วนรายงานที่ว่าประชาคมโลกไม่ยอมรับรัฐบาลทหารนั้นเป็นข่าวปลอม

โฆษกคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ ระบุด้วยว่า คณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ ไม่เคยอนุญาต และไม่มีแผนอนุญาตให้ นางคริสติน  สกราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของสหประชาชาติ เดินทางเข้าประเทศ 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์ท้องถิ่น ปรับยอดพลเมืองเมียนมาที่เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดว่าพุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 614 ศพ ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วยเกือบครึ่งร้อย และมีผู้ถูกจับกุมไปแล้วเกือบ 3,000 คน ขณะเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นชี้ว่ากองทัพ เมียนมาได้ใช้อาวุธหนักในการประหัตประหารผู้ประท้วงมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้จรวดอาร์พีจี ระเบิดดาวกระจาย ปืนกล และหน่วยแม่นปืน

มีรายงานว่า นางคริสตีน สกราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษด้านเมียนมาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตรียมเยือนชาติในเอเชีย รวมถึงไทย ในความพยายามทางการทูตเพื่อคลี่คลายวิกฤตนองเลือดในเมียนมา โดยนายสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกยูเอ็น กล่าวว่า นางบูร์เกเนอร์พร้อมเริ่มการเจรจากับกองทัพเพื่อนำประชาธิปไตย สันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมา ซึ่งนอกจากจะเยือนจีนแล้ว นางบูร์เกเนอร์ยังหวังที่จะเดินทางเยือนชาติสมาชิกอาเซียนด้วย โดยนางบูร์เกเนอร์เน้นย้ำว่าการตอบสนองของประชาคมโลกอย่างแข็งขันต่อวิกฤตในเมียนมายังต้องอาศัยความพยายามที่เป็นเอกภาพในภูมิภาคจากชาติเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถใช้อิทธิพลที่มีอยู่นำพาไปสู่เสถียรภาพด้วย
          
แผนการทัวร์เอเชียของทูตพิเศษยูเอ็นมีขึ้นในขณะที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่าด้วยเมียนมากำหนดจะมีขึ้นในปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งนักการทูตหลายรายระบุว่า ยังคงมีท่าทีเห็นต่างกันอยู่อย่างลึกซึ้งภายในกลุ่มอาเซียนเอง โดยด้านหนึ่ง ไทย ลาวและกัมพูชา กำหนดท่าทีวางเฉย โดยถือว่าเป็นเรื่องการเมืองภายใน ในขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เปิดกว้างพร้อมที่จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นของอาเซียน