วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 05:04 น.

ต่างประเทศ

"โอบามา"วอนชาวโลก ปฏิเสธคณะรัฐประหารเมียนมา

วันอังคาร ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564, 10.40 น.

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อวันจันทร์(26เม.ย.) เรียกร้องทุกประเทศยืนหยัดอย่างหนักแน่นต่อต้านคณะรัฐประหารของเมียนมา  ส่งเสียงเป็นหนึ่งเดียวกับพวกผู้ประท้วง และเตือนเสี่ยงกลายเป็น "รัฐล้มเหลว"

"โลกยังคงต้องให้ความสนใจไปที่พม่า ดินแดนที่ผมตกอกตกใจกับการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนอย่างน่าเศร้า และได้แรงบันดาลใจจากความเคลื่อนไหวทั่วประเทศที่เป็นตัวแทนแห่งเสียงของประชาชน" นายโอบามากล่าว ทั้งนี้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯเคยเดินทางเยือนเมียนมา  เพื่อสนับสนุนประเทศแห่งนี้ครั้งที่เริ่มตั้งไข่อ้าแขนรับประชาธิปไตยเมื่อเกือบ 1 ทศวรรษก่อน

นายโอบามาระบุในถ้อยแถลงว่า "ความชอบธรรมของกองทัพและความพยายามอันโหดร้ายป่าเถื่อนบังคับให้เป็นไปตามต้องการของพวกเขา หลังมีเสรีภาพมากขึ้นมานาน 1 ทศวรรษ ชัดเจนว่าจะไม่มีวันเป็นที่ยอมรับของประชาชน และไม่ควรเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั่วโลก"

อดีตประธานาธิบดีโอบามา ยังได้สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประเทศอื่นๆ ในการ "กำหนดมาตรการต่างๆที่กองทัพพม่าต้องชดใช้" ในความพยายามกอบกู้ประชาธิปไตย

"พวกเพื่อนบ้านของเมียนมาควรตระหนักว่ารัฐบาลฆาตกรหนึ่งที่ถูกปฏิเสธโดยประชาชน จะนำพามาแต่ความไร้เสถียรภาพใหญ่หลวง วิกฤตด้านมนุษยธรรม และความเสี่ยงของรัฐล้มเหลว" เขากล่าว

ความเห็นของนายโอบามา มีขึ้นตามหลังการประชุมซัมมิตอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้รับเชิญเข้าร่วมพูดคุยด้วย และเจ้าภาพอย่างอินโดนีเซีย ใช้โอกาสนี้เรียกร้องขอให้ยุติความรุนแรง

อียู-ออสซี่หนุนข้อตกลงอาเซียน

นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ชี้ว่า ความตกลง 5 ข้อดังกล่าวมีจุดบกพร่องอยู่หลายประการ ตั้งแต่การไม่มีตัวแทนของประชาชนเมียนมาได้รับเชิญให้เข้าร่วมอยู่ด้วย, การไม่มีข้อตกลงให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีส่วนอยู่ในทุกๆ การต่อรองเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และ สุดท้ายซึ่งเป็นข้อที่น่าวิตกอย่างแท้จริง ก็คือ การไม่มีกำหนดตารางเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า จุดอ่อนที่สุดของอาเซียนก็คือ การไม่สามารถทำให้ถ้อยแถลงหรือฉันทามติของกลุ่มกลายเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
          
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ออกมาแสดงความยินดีและสนับสนุนความตกลงครั้งนี้ รวมทั้ง สหภาพยุโรป (อียู) และออสเตรเลีย โดยนาย โจเซป บอร์เรลล์ ในฐานะผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (เทียบเท่ารัฐมนตรีต่างประเทศ) ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ระบุว่า ความตกลง 5 ประการที่มีขึ้นถือเป็นการก้าวไปข้างหน้าที่ทำให้มีกำลังใจ และพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียนเพื่อยุติความรุนแรงและเริ่มการสานเสวนาในทันที แต่ก็ย้ำด้วยว่า อียู "ยังจะคงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยทันทีต่อไป" และพร้อมให้การสนับสนุนการสานเสวนาที่ "อำนวยให้เกิดการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันประชาธิปไตยที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหลายโดยเร็ว" อีกด้วย
          
ทางด้านนาง มารีส เพย์น แถลงแสดงความชื่นชมต่ออาเซียนและบรูไน ประธานอาเซียนและแสดงความยินดีต่อความตกลงทั้ง 5 ข้อ พร้อมทั้งประกาศสนับสนุนความพยายามของอาเซียน ด้วยการสนับสนุนเงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 122.25 ล้านบาท ให้กับศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบริหารจัดการวิบัติภัยของอาเซียนเพื่อนำไปช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อเมียนมาต่อไป และเรียกร้องให้บังคับใช้ความตกลงทั้ง 5 ข้อโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ม็อบรณรงค์ไม่จ่ายค่าไฟไม่ใช้หนี้รัฐ ชุมนุมกระจายตามเมือง

กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาประกาศยกระดับการประท้วงแบบอารยะขัดขืนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. โดยเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันงดจ่ายค่าไฟ และหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการเกษตร ไปจนถึงไม่ให้ส่งลูกหลานไปโรงเรียน รวมถึงมีการจัดชุมนุมแบบดาวกระจายตามเมืองต่างๆทั่วประเทศ ขณะที่การพยายามติดต่อสอบถามไปยังรัฐบาลทหารเมียนมา ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นแต่อย่างใด
          
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การรณรงค์เพื่อหวังจุดกระแสต่อต้านการยึดอำนาจโดยกองทัพครั้งนี้ มีขึ้น 2 วัน หลัง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา เข้าร่วมการประชุมนัดพิเศษอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งผู้นำเมียนมาแสดงท่าทีรับฟังข้อเรียกร้องของอาเซียน ให้ยุติการใช้ความรุนแรง หลังมีผู้เสียชีวิตในการประท้วงกว่า 750 คน พร้อมยินดีต้อนรับผู้แทนพิเศษของอาเซียนที่เดินทางเยือนเมียนมา เพื่อพูดคุยหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าอาเซียนล้มเหลวตรงที่ไม่สามารถกดดันให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตกลงที่จะปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุมกว่า 3,000 คน
          
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองเมียนมาได้ระบุเพิ่มเติมว่า ต้องจับตาผู้นำเมียนมาต่อไปว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของอาเซียนเรื่องการยุติการใช้ความรุนแรงได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นพิสูจน์ได้จากสถานการณ์ตะเข็บชายแดน ว่ามีผู้อพยพหนีความรุนแรงน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานระบุด้วยว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมอาเซียนว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในเมียนมา มีเพียง 247 คน ส่วนตัวเลขเสียชีวิตที่มีกลุ่มเฝ้าระวังประเมินออกมาว่าอยู่ที่ 750 คนนั้น อ้างว่าเป็นฝีมือของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย