วันพุธ ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:19 น.

ต่างประเทศ

รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาเยือนกัมพูชาเข้าพบสมเด็จฮุน เซน

วันอังคาร ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 12.42 น.

วันที่ 7 ธันวาคม  2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ว่าสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้การต้อนรับนายวันนา หม่อง ลวิน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงพนมเปญ เมื่อวันอังคาร โดยการเยือนของนายวันนา หม่อง ลวิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเมียนมา เกิดขึ้นก่อนที่กัมพูชาเตรียมทำหน้าที่ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ประจำปี 2565

ทั้งนี้ ผลจากการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิด “การแบ่งแยก” ด้านนโยบายค่อนข้างชัดเจนในบรรดาสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศที่เหลือ ชัดเจนที่สุด คือการที่พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา “ไม่ได้รับเชิญ” ให้เข้าร่วมการประชุมสุอดยอดอาเซียน ซึ่งบรูไนทำหน้าที่ประธานประจำปีนี้ เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน เมื่อปลายเดือนที่แล้ว 

"ฮุน เซน"ลั่นเมียนมามีสิทธิร่วมถกอาเซียน

ทั้งนี้สมเด็จฯฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา ซึ่งกำลังจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในต้นปี 2565 กล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ว่าเขาพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเมียนมา และวางแผนเยือนเมียนมาเพื่อหารือกับรัฐบาลทหาร พร้อมกับระบุว่าทหาร เมียนมาควรได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมกับชาติสมาชิกอาเซียน

 สมเด็จฯฮุน เซน กล่าวระหว่างเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการก่อสร้างที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนว่า ในฐานะประเทศเจ้าภาพอาเซียนในปีหน้า สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะต้องเข้าร่วมในการประชุม เพราะนี่คือสมาชิกในครอบครัวอาเซียน พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะเข้าร่วมประชุม หากมีการประชุมใดๆ ขึ้น เราก็ต้องเชิญสมาชิกทั้งหมด หากเป็นการประชุมระดับผู้นำ เราก็ต้องเชิญผู้นำประเทศ มันต้องเป็น เช่นนั้น
          
ผู้นำกัมพูชากล่าวด้วยว่า นายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ได้รับการแต่งตั้ง จากรัฐบาลทหารเมียนมา จะเดินทางเยือนกัมพูชาในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ และจะเข้าพบหารือกับตนในสถานะทวิภาคี
          
"มีความเป็นไปได้สูงที่ผมจะเดินทางเยือน กรุงเนปยีดอเพื่อพบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เพื่อทำงานร่วมกัน เพราะหากผมไม่ทำงานกับผู้นำประเทศ แล้วผมจะทำงานกับใคร" สมเด็จฯฮุน เซน กล่าว พร้อมย้ำถึงนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้านว่า ภายใต้กฎบัตรอาเซียน ไม่มีใครมีสิทธิที่จะขับชาติสมาชิกใดออกไป
          
ทั้งนี้ สมเด็จฯฮุน เซน วัย 69 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก โดยรัฐบาลภายใต้การนำของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ไม้แข็งในการปกครองประเทศด้วยการจำคุก ฝ่ายตรงข้ามและทำให้คนเห็นต่างเงียบเสียง เมื่อปี 2555 ที่กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งก่อน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียนที่ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งเป็นผลสรุปจากที่ประชุม เนื่องจากมีข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้เกี่ยวกับเนื้อหาในประเด็นทะเลจีนใต้มาแล้ว

รัฐบาลทหารเมียนมาลดโทษคุมขัง ให้ "ซูจี-วิน มยินต์"
 
พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ลดบทลงโทษลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี สำหรับคดีแรกที่ศาลตัดสินให้นางออง ซาน ซูจี และอดีตประธานาธิบดีวิน มยินต์ มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และละเมิดกฎโควิด-19

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ว่าจากการที่ศาลเมียนมา ในกรุงเนปิดอว์ มีคำพิพากษา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้นางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา รับโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก และ 2 ปี ฐานละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ภายใต้กฎหมายภัยพิบัติทางธรรมชาติ

คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตัดสินคำฟ้องชุดแรกจากทั้งหมด 11 ข้อหา ที่ยังมีทั้งการรับสินบน และการแพร่งพรายความลับของทางการ ซึ่งนางซูจีและจำเลยร่วมทุกคนให้การปฏิเสธ โดยหากศาลตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาทั้งหมด นางซูจี วัย 76 ปี อาจต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลานานสูงสุดมากกว่า 100 ปีนั้น

Cr. Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister
 

หน้าแรก » ต่างประเทศ