วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 06:14 น.

ไอที

อั้ยยะ!ยุคหุ่นยนต์มาแน่50อาชีพกระทบไม่ระคายผิวพระสงฆ์

วันพฤหัสบดี ที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2561, 16.00 น.

อั้ยยะ!ยุคหุ่นยนต์มาแน่50อาชีพกระทบไม่ระคายผิวพระสงฆ์


ประธาน TDRI เผยยุค 4.0 เทคโนโลยี "เอไอ" หรือหุ่นยนต์ มาแน่ ส่งผลกระทบต่ออาชีพกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ถูกทดแทน พนักงานขับรถโดนก่อน ขณะที่พระสงฆ์สบายใจได้ยากที่จะเข้ามาแทนการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ


วันที่ 5 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสภาวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI ได้กล่าวในการบรรยายเรื่อง “เมื่อปัญญาประดิษฐ์คือแรงงาน ทักษะจำเป็นอะไรที่คอมพิวเตอร์ทดแทนได้ยาก” ในงานสัมมนา “ทักษะ 4.0 เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร”ที่จัดโดยบริษัทอมรินทร์พริ๊นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานพันธมิตร เมื่อเร็วๆ นี้
 


“ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตนเองแล้วมาแทนที่แรงงานมนุษย์ได้ในระยะยาวหรือสั้น ไม่มีใครบอกได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนของอาชีพที่ร้อนๆหนาวๆเพราะกำลังจะถูก AI แทนที่ในระยะสั้นหนีไม่พ้น คนขับรถ เพราะขณะนี้มีการรายงานข่าวมาเรื่อยๆว่าหลายบริษัทได้ทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง แม้ล่าสุดจะมีข่าวร้ายเรื่องรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ส่วนบุคคล UBER ชนคนเดินถนนเสียชีวิต กระแสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองก็ยังไม่ตกและได้รับความสนใจอย่างมากอยู่ดี” ประธานสภา TDRI กล่าวและว่า

 

ส่วนอาชีพที่ยากต่อการถูกทดแทนโดยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและชี้ให้เห็นถึงทักษะที่ยากต่อการแทนที่ของ AI และหุ่นยนต์ นั่นคือ พระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์เหมือนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ให้คำแนะนำพุทธศาสนิกชนเมื่อไม่สบายใจ ซึ่งทักษะนี้ต้องอาศัยทักษะ ความเข้าใจ ของมนุษย์เท่านั้นเช่นเดียวกับ อาชีพ หมอดู นักจิตวิทยา ขณะที่อาชีพที่ต้องอาศัยศิลปะ ความละเอียดทางประสาทสัมผัส ทักษะความชาญฉลาดของมนุษย์เฉพาะทาง อย่าง กุ๊กหรือเชฟทำอาหาร หรือหมอผ่าตัด ก็นับเป็นอาชีพที่หุ่นยนต์ หรือ AI ยากจะเข้ามาแทนที่ได้

 


ดร.สมเกียรติ ได้เปิดประสบการณ์โดยหยิบยกเอาปรากฎการณ์ล่าสุด ที่ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า AlphaGo Zero โปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้แข่งเกมหมากล้อมที่เรียกว่า โกะ แทนคนที่ล่าสุดสามารถแข่งขันหมากล้อมได้ชนะมนุษย์แล้ว นี่นับเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งที่มาพิสูจน์ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ยุคนี้ได้พัฒนามาอีกขั้น จนสามารถเล่นหมากล้อมซึ่งเป็นเกมที่จำเป็นต้องอาศัยความชาญฉลาดของมนุษย์ในการวางแผนเดินหมาก และเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เป็นมนุษย์ได้ในที่สุด

 

ไม่ใช่แค่นั้น อีกหนึ่งตัวอย่างที่มายืนยันว่า วิทยาการล้ำยุคต่างๆ เข้ามาใกล้ตัวเราว่าที่คิด คือ กรณีของผู้ประกอบการต่างชาติที่มาเปิดโรงงานในไทย อย่าง DENSO ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งที่รับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ก็ได้ปรับกระบวนการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานมนุษย์ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อนแล้ว จนกระทั่งตอนนี้ก็ไม่หยุดที่จะเดินหน้าปรับกระบวนการการทำงานโดยจะนำเทคโนโลยี หุ่นยนต์ รวมถึง AI เข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์มากขึ้น โดยก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนนั้นทางบริษัทจะคำนวณก่อนว่าภายใน 1 ปี จะสามารถคืนทุนได้หรือไม่ หากคำตอบคือได้ จะมีการติดติดป้ายสีฟ้าไว้ที่แผนกนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่างานนั้นจะได้รับการแทนที่ด้วย AI หรือหุ่นยนต์ในเร็ววันนี้

 


ดร.สมเกียรติ เน้นย้ำว่า  ดูเหมือนว่าฝันร้ายที่ หุ่นยนต์ หรือ AI จะมาทดแทนหรือแทนที่แรงงานมนุษย์จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด ดังนั้นทักษะที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพคนให้รอดจากวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เพื่อการปรับตัวนั้นควรประกอบด้วย

 

1. มองภาพรวม เนื่องจากคอมพิวเตอร์แก้ปัญหาได้ทีละเรื่อง แต่เข้าใจภาพรวมจนวางกลยุทธ์ไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะถามว่า มนุษย์จะแก้เกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์โปรแกรม AlphaGo Zero และกลับมาเป็นเลิศในการแข่งขันหมากล้อมนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ การใช้โปรแกรม AlphaGo Zero ร่วมกับทักษะการมองภาพรวมของหมากล้อมทั้งกระดานของมนุษย์ ซึ่งโปรแกรม AlphaGo Zero ไม่สามารถทำได้ มาเสริมศักยภาพการวางแผน การเดินเกมของผู้แข่งขันให้เฉียบคมขึ้น แค่นี้ ก็จะสามารถเอาชนะโปรแกรมที่ว่ากันว่าอัจฉริยะนี้ได้แล้ว

 

2. ร่วมก่อการ ไหนๆ ปรากฎการณ์ที่ AI หรือ หุ่นยนต์ ก็จะเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์อยู่แล้ว ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น มนุษย์เราต้องไหวตัวทัน ก้าวขึ้นไปอยู่ในฐานะผู้วางกลยุทธ์และเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการ  ถ้าทำเช่นนี้ได้ ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าคุณจะเป็นผู้รอดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้แน่นอน

 

3. ชาญฉลาดใช้ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ หรือ AI ทุกประเภทให้เป็น ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานของคุณให้ได้มากที่สุด อย่างกรณีที่มีคนกล่าวว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะมาทำหน้าที่แทนนักรังสีวิทยาที่วิเคราะห์ฟิล์มเอกซเรย์ คุณก็ต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เลื่อนสถานะให้ตัวเองเป็นผู้อธิบาย ตอบคำถามเกี่ยวกับฟิล์มเอกซเรย์นั้นได้ลึก รอบด้านมากขึ้น และนำเวลาที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำงานแทนคุณนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการไปพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น วิธีนี้จะเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มให้อาชีพ ทำให้โปรแกรมคอมมพิวเตอร์ไม่มีวันทำหน้าที่แทนคุณได้

 

4. ใฝ่หาช่องว่าง พยายามหางานเล็กๆ น้อยๆ งานที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ซึ่งยังไม่มีใครสร้างเครื่องจักร หุ่นยนต์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้

 

5. แตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์ ในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างอาศัยความเร็ว ฉาบฉวย ทำให้ผู้คนนั้นขาดพร่องและต้องการเสพงาน เรื่องราว ที่สร้างอารมณ์ มีคุณค่า มีความละเอียดอ่อน รวมถึงมีเรื่องราว ซ่อนอยู่ในชิ้นงาน หรือการทำอาชีพ จงอาศัยทักษะความละเอียดอ่อน ประสาทสัมผัสที่อ่อนโยน ปราณีต ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานพิเศษ การทำหน้าที่ทีสร้างความประทับใจ ซึ่งตรงนี้เองที่จะไม่มีใครมาทำแทน คุณ ได้


ท้ายที่สุดแล้ว ดร.สมเกียรติ ได้ฝากความหวังไว้กับภาคการศึกษา ให้ผลิตกำลังคนด้วยความใส่ใจ ไม่ใช่มุ่งผลิตคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้อนภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ควรหันมาให้ความสำคัญสร้างบุคลากรของประเทศที่ทำงานด้วยทักษะ หรือ Soft Skill ที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ด้วย เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้บุคลากรของประเทศให้รอดพ้นจากการคุกคามของทุกเทคโนโลยีด้วยความรู้เท่าทัน และสามารถใช้เทคโนโลยีนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติได้ในที่สุด

.............


(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.salika.co/2018/04/01/ai-can-not-disrupt-human/)

หน้าแรก » ไอที

ข่าวในหมวดไอที