วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 12:03 น.

ไอที

ระดมสมองแก้ปัญหา Hate Speech ก่อนลุกลามเกินแก้ไข

วันอาทิตย์ ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 06.10 น.

ระดมสมองแก้ปัญหา Hate Speech ก่อนลุกลามเกินแก้ไข

 

นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อมวลชน และนักแสดง ร่วมแสดงความเห็นกรณีปัญหา Hate Speech หรือ การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง ผ่านสัมมนาสาธารณะ "Hate Speech บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ" จัดโดย ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

ในงานสัมมนาสาธารณะ "Hate Speech บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22มิถุนายน 2562 โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนปัญหาการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกอออนไลน์ และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Hate Speech เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถหาทางรับมือเมื่อถูก Hate Speech รวมถึงแนวทางการป้องกัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พิธีกรและนักแสดง และนางสาววาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า ประทุษวาจา หมายถึง การแสดงออกทางความหมายในรูปแบบใดก็ตามที่ส่งเสริมการแบ่งแยกและดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อบุคคลหรือกลุ่มคน บนอัตลักษณ์ร่วม เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ หรือแม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง โดย "ประทุษวาจา" อาจเป็นการล้อเลียนหรือทำให้ขบขันก็ได้

ศ.ดร.พิรงรอง มองว่า การก้าวข้ามปัญหา Hate Speech คือ การสร้างความเข้าใจ ความสามารถที่จะอยู่ร่วมท่ามกลางการแตกต่าง ทั้งยอมรับว่า สังคมไทยมีปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะโลกออนไลน์ที่ผู้คนย้ายเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อย ๆ มีลักษณะเสมือน "ห้องแห่งเสียงสะท้อน" ที่ผู้คนเปิดรับและกลั่นกรองเฉพาะเนื้อหาที่ตรงและตอกย้ำทัศนคติของตนเอง และปฏิเสธสิ่งที่ไม่ลงรอยด้วยอคติ ในบริบทแบบนี้ ทั้งข่าวลวง (fake news) และ ประทุษวาจา (hate speech) ก็ถูกส่งต่อและขยายผลอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะไม่มีเสียงแบบอื่นขึ้นมาลดทอนหรือแย้งให้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป

ทั้งนี้การออกกฎหมายมาแก้ปัญหาอาจไม่ใช่ทางออกเพราะสังคมแตกแยกแบ่งขั้วกันไปแล้ว อีกทั้งความยุติธรรมในระบบกฎหมายก็ยังเป็นประเด็นที่ยังเป็นปัญหาด้วยการเมืองในรูปแบบที่ครอบงำอยู่ในปัจจุบัน

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยรายล้อมด้วย Hate Speech ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นอัตตาที่สูงของปัจเจกบุคคล การไม่รับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป โดยปัญหา Hate Speech ที่พบในประเทศไทย ซึ่งมีความรุนแรงคือ การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังในเรื่องการเมือง ทั้งนี้ประเทศไทยจะก้าวข้ามปัญหาดังกล่าวไปได้ จำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้ภาคประชาชนเปิดใจรับฟังความเห็นต่าง และเรียนรู้จากมุมอื่น ๆ ที่ประเทศไทยไม่เคยประสบปัญหาจากความเห็นต่าง อาทิ การเหยียดสีผิว หรือการต่อต้านผู้รักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาของต่างประเทศ คำถามคือ ทำไมประเทศรับเรื่องเหล่านั้นได้ ขณะที่เมื่อเป็นประเด็นการเมืองของไทยกลับใช้วาจาสร้างความเกลียดชังจนเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในสมาชิกครอบครัว และเพื่อน

ดร.มาร์ค ย้ำว่า ภาคการศึกษามีส่วนอย่างยิ่งต่อการปลูกฝังความคิดการยอมรับการเห็นต่างให้แก่เยาวชน  และสถาบันครอบครัวก็มีส่วนในการสนับสนุนการแสดงออกความคิดเห็นในมุมที่แตกต่างกันได้ และ Hate Speechสมควรยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ต้องไม่ผลักดันให้เกิดขึ้นในเชิงกฎหมาย แต่ควรจะเป็นวาระแห่งชาติในมุมภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและนำซึ่งการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

นางสาววาสนา นาน่วม มองว่าประเทศไทยตกอยู่ในสภาพ Hate Speech มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะความเห็นแตกต่างทางการเมือง ที่มีการแบ่งสี แบ่งฝ่าย แบ่งขั้วชัดเจน ดังนั้นเมื่อมีประเด็นสังคมใด ๆ เกิดขึ้น ก็จะมีความพยายามที่จะโยงไปทางการเมือง ของตนเองมาตัดสิน และเมื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองใส่ลงในSocial Media ทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่าง และยังมีการนำ Hate Speech จนลุกลามก่อให้เกิดปัญหาในวงกว้าง ทั้งนี้ เห็นด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวควรจะถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ  แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่สังคมไทยจะก้าวข้าม แต่ก็ต้องพยายาม เพราะปัญหาสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่แนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนเริ่มที่จะเปิดใจมากขึ้นว่า ถ้ามีคนคิดต่าง อย่ามองเขาเป็นศัตรู หรือถึงขั้นเปิดวิวาทะ ทะเลาะกันในสังคมออนไลน์ ทั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายเปิดรับฟังความคิดเห็นคนที่แตกต่างได้ และต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเห็นภาพนั้น เพียงแต่ว่าคนที่เจอ Hate Speech ต้องปรับตัวเองให้สามารถที่จะรับกับสถานการณ์ที่ตัวเองโดนให้ได้

 "เรื่องนี้เคยถูกหยิบยกมาพูดในสมาคมนักข่าว ว่าถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และไม่เฉพาะแต่วิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น ควรขยายไปยังทุกสาขาวิชาชีพให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และควรยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสังคมจะได้เริ่มตระหนักถึงปัญหา Hate Speech ว่าเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้น" นางสาววาสนา กล่าว

ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี กล่าวว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันและใช้งานอย่างมีสติ อย่าอ่อนไหวไปตามกระแสโซเชียล บางทีต้องมีการกลั่นกรองและรอพิสูจน์ความจริง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ครอบครัวควรมีบทบาทสำคัญ  และวันนี้ถึงเวลาที่สังคมไทย จะร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัญหา Hate Speech ที่เกิดขี้นไม่ได้แค่การทำลายสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังคือการสร้างข่าวสารเท็จทำร้ายผู้อื่น หลายคนอาจจะมองว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายกัน แต่การทำร้ายโดยโซเซียลนั้นเป็นการทำลายชื่อเสียงของเขา กลายเป็นแผลและตราบาปที่จะอยู่ในโซเชียลไปอีกนาน

หน้าแรก » ไอที

ข่าวในหมวดไอที