วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 10:32 น.

การเมือง

"บิ๊กตู่"ยันต้องไม่ซ้ำซ้อน เงินเยียวยาภัยโควิด

วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, 17.11 น.

"บิ๊กตู่"ยันต้องไม่ซ้ำซ้อน เงินเยียวยาภัยโควิด ส.ส.ภูมิใจไทยชี้เกิดความวุ่นวายสะท้อนรัฐไม่มีฐานข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศที่ชัดเจน  ระบบ Big Data แค่ภาพลวงตา วอนรัฐบาลจัดเงินสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาทิ อสม. 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุมสภาฯพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563ว่า  ไม่ต้องห่วงเรื่องการใช้เงิน เพราะระบุไว้อยู่แล้วว่าจะใช้ใน 3 เรื่องคือ รักษา เยียวยา และฟื้นฟู ยืนยันการบริหารงานของรัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนที่ระบุว่า รัฐบาลเยียวยาไม่ทั่วถึงนั้น ก็เพราะรัฐไม่รู้ว่าใครเดือดร้อนแค่ไหน จึงให้ประชาชนมาลงทะเบียน อีกอย่างก็เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนอย่างเช่นกรณีเกษตรกร ทั้งนี้เงินที่ให้เป็นเงินสำหรับดำรงชีพในช่วงโควิด ไม่ใช่เงินให้ไปใช้หนี้

นายกฯ ยังชี้แจงอีกว่า กรณีที่ถามว่าทำไมรัฐบาลไม่เยียวยาทุกคนให้เท่าเทียมกัน อยากถามว่าแล้วจะนำเงินมาจากไหน คำว่าเท่าเทียมกันในความหมายของรัฐ หมายถึงความเท่าเทียมทางกฎหมาย ซึ่งต้องปฏิบัติให้เหมือนกันทุกคนทั้งประเทศ ยืนยันตอนนี้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือทุกคน ไม่ทิ้งใคร หรือปล่อยใครแน่นอน ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพราะจำเป็นต้องมี เพื่อเป็นกฎหมายกลางให้การดำเนินงานต่างๆ มีมาตรฐานเดียวกัน ที่ผ่านมาก็ได้ผลดีในการควบคุมโรค แล้วถ้ายกเลิกเหมือนหลายคนเสนอ ถามว่าหากเกิดเหตุอลหม่านแล้วใครจะผิดชอบ ก็รัฐบาลอีกเช่นเคย ส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้กำชับไปแล้ว ให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หนักเบาตามสถานการณ์ คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายแสดงความเห็นในพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563ว่า เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณ 555,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ทางปฏิบัติจะเห็นว่าเกิดความวุ่นวายมากมาย คนที่ควรได้รับกลับไม่ได้รับ และต้องมีการอุทธรณ์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีฐานข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศที่ชัดเจน ไม่มี Big Data จึงทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา
 
นายภราดร กล่าวว่า น่าเสียดายที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรเพียง 45,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ควรคำนึงถึงเจ้าหน้าที่ภาคส่วนอื่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นองคาพยพที่พยายามช่วยกันป้องกันสถานการณ์ไม่ให้เลวร้าย และอีกส่วนหนึ่งนำไปทำวัคซีน ทำการวิจัย การกักตัว และกันส่วนหนึ่งไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่มีงบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขไทย งบประมาณ 45,000 ล้านบาท จึงเป็นงบประมาณที่น้อยมากเป็นเพียงแค่ร้อยละ 4.5 ของทั้งหมด

"ทำไมไม่ใช้โอกาสตรงนี้ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข จะเห็นว่าที่ผ่านมา 2 ถึง 3 เดือน ระบบสาธารณสุขมีความเข้มแข็งมาก แต่เป็นความเข้มแข็งบนความขาดแคลน มีแต่หัวใจที่จะไปสู้ แต่ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอาวุธเพื่อต่อสู้กับโรคร้าย โรงพยาบาลสาธารณสุขประจำตำบล หรือ รพ.สต.มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะยกระดับให้มีคุณภาพและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้มากขึ้น ไม่มีการเชื่อมโยงโรงพยาบาลอำเภอ เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขพยายามจะทำอยู่ แต่ด้วยงบประมาณได้ในแต่ละปี จึงไม่สามารถเชื่อมโยงได้การเชื่อมโยงข้อมูลได้ ทำให้ประชาชนมุ่งหน้าเข้าไปที่โรงพยาบาลประจำอำเภอจนแน่น ทั้งที่ รพ.สต. สามารถรองรับคนจำนวนมากได้ จึงควรเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านระบบ Telemed ให้เกิดประโยชน์"นายภราดร กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีหลายคนที่อภิปรายให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของ อสม.

นายกฯชู3ประเด็นสำคัญ วางแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจ รองรับ"New Normal" 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์  ได้บันทึกเทปคำกล่าวถ้อยแถลง กิจกรรม High-Level Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond ตามคำเชิญของ นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีจาไมกา และ เลขาธิการสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต
          
โดยเทปถ้อยแถลงดังกล่าวจะเผยแพร่ในเวลา 10.17 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนิวยอร์ก ซึ่งตรงกับเวลา 21.17 น.ของไทย) วันที่ 29 พ.ค.โดย นายกฯ ใช้โอกาสนี้พูดถึงความร่วมมือ ว่า โลกจะต้องปรับตัวต่อ New Normal ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน ทั้งเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

          ทั้งนี้ นายกฯ เสนอ 3 ประเด็นที่สำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้ คือ 1.การจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม ให้มีสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า

          2.เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต้องยึดมั่นในระบบการค้า พหุภาคี ที่เปิดกว้างเพื่ออำนวยให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเดินหน้าต่อไป และจะต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป โดยจะต้องมีการฟื้นฟูปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้และให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน ในการสร้างชุมชนและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และหวังว่าทางองค์การระหว่างประเทศ จะมีเป็นปัจจัยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเงิน

          และ 3.วิกฤตนี้เป็นโอกาสที่จะได้วางแผนฟื้นตัวเศรษกิจได้อย่างยั่งยืน เป็นการรองรับแนวทางปกติใหม่ หรือ New Normalเป็นการดูแลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าการลดภาวะโลกร้อน กำจัดขยะในทะเล โดยมาตรการนี้จะได้ผลต้องได้รับความไว้วางใจและความร่วมมือจากประชาชน

          สำหรับประเทศไทยเองขอบคุณพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างดียิ่ง รัฐบาลได้สื่อสารทำความเข้าใจทุกวัน เพื่อวางมาตรการเตรียมรับมือกับวิกฤตนี้และสุดท้าย นายกฯได้ขอบคุณนายกฯแคนดานา นายกฯจาไมกา และเลขาธิการสหประชาชาติที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้มาหาทางร่วมกันในการรับมือและส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          จากนั้น เวลา 14.23 น.นายกฯ เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ไปร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน ในวันที่สอง

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง