วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 23:11 น.

การเมือง

"อนุทิน"ลั่นไม่มีทางรอด! คนเรียกหักหัวคิวกักตัวโควิด กินแกลบกันเป็นแถวแน่

วันศุกร์ ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, 11.12 น.

"อนุทิน"ลั่นไม่มีทางรอด! คนเรียกหักหัวคิวกักตัวโควิด กินแกลบกันเป็นแถวแน่ คนจ่ายมีความผิดด้วย

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมศบค.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุมจะหารือรายละเอียดมาตรการผ่อนปรนต่างๆ โดยก่อนหน้านี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และปลัดกระทรวงต่างๆ ได้หารือในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำชับปลัดสธ.ไว้ว่าความปลอดภัยของประชาชนต้องมาเป็นลำดับแรก ขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อตัวเลขกลับมาเป็นสองหลักต้องมาดูว่าตัวเลขสองหลักมาจากสถานที่กักกันตัวของรัฐทั้งหมด เป็นคนที่มาจากต่างประเทศที่เป็นประเทศมีการติดเชื้อสูงและให้เข้ามา 200-300 คน ต่อวัน เมื่อคนไทยจะกลับบ้านเราก็ต้องอำนวยความสะดวกให้เพราะอยู่ที่เมืองไทยดีกว่าที่เมืองนอก แต่เราไม่เคยประมาทและต้องมั่นใจว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะไม่ไปที่ใด ต้องมากักตัว 14 วันตามกติกา ใครติดเชื้อต้องรักษาพยาบาล และในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่มีการติดเชื้อจากในประเทศกันเอง          

ทั้งนี้หากมีการผ่อนปรนระยะที่ 3 แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดคือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ไปในที่เสี่ยง เป็นสิ่งที่ยังต้องทำต่อไป โดยปฏิบัติให้เป็นชีวิตวิถีใหม่ แต่หากมีวัคซีนแล้วอาจจะไม่ต้องใส่หน้ากากออกจากบ้านก็ได้
          
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีบุคคลแอบอ้างและหักหัวคิวสถานที่ที่ต้องการจะมาเป็นที่กักกันตัวของรัฐ จะมีความชัดเจนเรื่องนี้อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ใครจะทำคงรับประทานแกลบกันเป็นแถว ทุกคนรู้อยู่แล้วใครจะกล้าทำ และคนที่จะอนุมัติงบเหล่านี้ต้องเอาแว่นขยายส่อง ไม่มีทางรั่วไหล ส่วนคนที่จ่ายไปแล้วก็ซวยไป และถือว่ามีความผิดด้วย เพราะร่วมกันทุจริตในราชการ หากมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเราจะรู้ได้อย่างไร เพราะอาจจะมีการแอบอ้างได้ว่าเป็นญาติ เช่น มีคนกระทำผิดแอบอ้างว่าเป็นคู่เขยตน ทั้งที่ตนไม่มีเมีย แล้วจับเป็นคู่เขยได้อย่างไร ไปของานหรือบีบคั้นราชการได้อย่างไร
          
เมื่อถามว่าทราบหรือยังว่าคนที่แอบอ้างเป็นใคร นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องไปทราบในส่วนนั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่มีทางรอด เพราะจะต้องมีการคัดกรองและผ่านการเซ็นอนุมัติในหลายขั้นตอน
          
เมื่อถามว่า เมื่อสิ้นสุดการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะมีกฎหมายใดที่เข้ามาควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นายอนุทิน กล่าวว่า ยังมีพ.ร.บ.โรคติดต่อ และประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดร้ายแรงอยู่ ตนได้เรียนนายกรัฐมนตรี ว่าแม้จะไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังต้องคงคณะทำงานที่ร่วมทำงานในระหว่าง 3-4 เดือนที่ผ่านมาไว้ เพื่อทำงานร่วมกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ และนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของการบริหาราชการแผ่นดิน สามารถสั่งการได้ทุกเรื่อง เราไม่ได้ใส่ใจกับคำว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ใส่ใจกับคำว่าสปิริตการทำงานร่วมกัน
          
เมื่อถามว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนมิ.ย.จะเป็นเดือนสุดท้ายใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิ์ไปตอบ แต่เรื่องโควิด-19 สำคัญกว่าเรื่องการเมือง เรื่องศักดิ์ศรีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น อะไรที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจากการติดเชื้อตนยอมหมด

ทั้งนี้ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 กล่าวก่อนการประชุมว่า แนวโน้มของการลดเวลาเคอร์ฟิวออกไป 1 ชั่วโมง น่าจะเป็นช่วง ช่วง 23.00 น. – 03.00 น. ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ประเมินจากความจำเป็นของประชาชนในการประกอบกิจการ ซึ่งก็ต้องติดตามที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ เห็นชอบวันนี้ ส่วนการผ่อนคลายกิจกรรมกิจการใดบ้างในระยะ 3 เลขา สมช. ขอให้รอติดตามผลการประชุม ศบค. ซึ่งเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนจะพยายามทยอยเปิดกิจกรรมกิจการให้สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายวันเพราะกิจกรรมกิจการในระยะหลังจากนี้มีความเสี่ยงในระดับสีเหลืองและสีแดง ทั้งนี้คณะกรรมการฯ มีความคิดที่จะทยอยเปิดเรื่อยๆ ในเดือนมิ.ย.ในกิจกรรมกิจการที่มีความพร้อมควบคู่กับต้องดูสถานการณ์ด้วย ไม่ต้องรอ 14 วันตามหลักการเดิม แต่ทั้งนี้ต้องหารือกับ ศบค. ว่าจะเห็นชอบตามหลักการนี้หรือไม่

ส่วนภายหลังเดือนมิ.ย. มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลขา สมช. กล่าวว่า ต้องมีการหารือกันว่ากฎหมายพิเศษยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ และประเมินสถานการณ์ซึ่งก็อาจกลับไปใช้กฎหมายปกติ ทุกอย่างมีความเป็นไปได้หมด

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง