วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 11:58 น.

การเมือง

ทันควัน! "อนุสรณ์" ชี้ "สมคิด" เสนอยุบสภา เป็นคำสารภาพรัฐบาลมีปัญหา

วันอังคาร ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 09.42 น.

วันที่ 30 มิ.ย.2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอยุบสภา ตั้งรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาโควิด19 เหมือนสิงคโปร์ ว่า สภาพปัญหาของรัฐบาลในขณะนี้ อธิบายให้เห็นภาพชัดได้ด้วยคำพูดของนายสมคิดก่อนหน้านี้ คือ คนเก่าอยู่แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ควรอยู่ คนใหม่มาทำอะไรไม่เป็น ไม่ควรมา เกิดสภาพลักลักลั่น เป็นสุญญากาศทางการบริหาร คนเก่าจะอยู่ต่อก็คายฟันยางสารภาพว่า รัฐบาลมีปัญหา มือไม่ถึง จนต้องเสนอให้ยุบสภาเป็นทางออก 

คนที่มีชื่อจะมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ ประชาชนก็ยี้ ไม่เชื่อมั่นกันทั้งเมือง ยึดอำนาจ ยึดเก้าอี้ จนกลายเป็นการยึดโอกาสจากคนไทย ที่ควรจะมีความหวังอยู่รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจที่วิกฤติหนัก เพราะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซ้อนวิกฤติเศรษฐกิจไทย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ชัด จีดีพีโลกหดตัว 4.9 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบร้อยละ 8.1 หดตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประเทศที่รัฐบาลมีเสถียรภาพยังแก้ปัญหายาก รัฐบาลที่มีปัญหาหนักขนาดนี้ โอกาสแก้ปัญหาสำเร็จเป็นเรื่องที่ยากมาก

"การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ เสนอยุบสภา สาเหตุหลักอาจไม่ใช่เพราะโควิด แต่เพราะรัฐบาล มีปัญหา มือไม่ถึง จนไปต่อไม่ได้ อย่าไปพูดถึง นิวนอร์มอลทางการบริหาร ถ้ายังสาละวนอยู่กับโอลด์นอร์มอล แย่งชามข้าว ฉุดการเมืองถอยหลัง ทำประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส" นายอนุสรณ์ กล่าว


"อนุดิษฐ์"ชี้รัฐบาลไร้ยุทธศาสตร์แก้เศรษฐกิจ เน้นความมั่นคงตัวเองแต่ทิ้งประชาชน 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายเริ่มถามหายุทธศาสตร์การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หรือเงินงบประมาณที่โอนมาจากงบปี 2563 ของรัฐบาล ว่าจะจัดลำดับความสำคัญและมุ่งเน้นการแก้ปัญหาก่อนหลังอย่างไร  เช่น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ  การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME การช่วยเหลือคนตกงาน หรือถ้าต้องทำพร้อมๆกันทุกเรื่องจะจัดน้ำหนักของงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีการชี้แจงอย่างเป็นรูปธรรมเลย การที่รัฐบาลให้แต่ละหน่วยงานเสนอโครงการเข้าไปแบบต่างคนต่างทำ โดยมองไม่เห็นยุทธศาสตร์ภาพรวม ต้องถือว่าเสี่ยงกับการอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณแบบไร้ประสิทธิภาพ สุดท้ายการใช้เงินกู้จำนวนมหาศาลเหล่านี้ อาจลงเอยด้วยการไม่ตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ ประเทศอาจประสบสภาวะชะงักงัน เพราะไม่สามารถใช้เงินก้อนสุดท้ายในการสตาร์ทเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้  ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่จะเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ก็คือ กลุ่มที่เปราะบางทางด้านเศรษฐกิจ  ได้แก่กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ หรือ ประชาชนที่ยังตกงานอยู่เกือบ 10 ล้านคนในขณะนี้

โดยเฉพาะงบ 4 แสนล้านบาท ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีกระแสข่าวว่า มีรายการประเภท “คุณขอมา” เป็นจำนวนมาก หรือมีการนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่นและเสนอเข้าไปใหม่โดยการตั้งชื่อโครงการให้สอดคล้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด หรือสอดไส้โครงการที่สามารถใช้งบประมาณปกติดำเนินการได้ โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่ได้กำหนดทิศทาง แผนงาน หรือมาตรการการใช้งบประมาณที่ชัดเจนให้ทราบเลย

“สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จะครบ 3 เดือน ของการจ่ายเงินเยียวยา 5000 บาท แต่ยังมีบางอาชีพที่ยังไม่สามารถกลับไปทำมาหากินได้ตามปกติ  ส่วนที่ได้รับการปลดล็อกแล้ว ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปรอดหรือไม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงล็อกดาวน์ธุรกิจ ส่วนรัฐบาลก็มัวยุ่งกับปัญหาภายในของตัวเอง ทีมเศรษฐกิจก็ขาดเอกภาพเพราะไม่รู้จะฟังใครดี ที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาแบบสะเปะสะปะ ไร้ยุทธศาสตร์” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้คนตกงานหลายล้านคน กำลังรอฟังความชัดเจนจากรัฐบาลว่า จะมีนโยบายหรือมาตรการใดออกมาฟื้นฟูเยียวยาพวกเขาอีก หลังจากได้รับเงินช่วยเหลือครบ 3 เดือนแล้ว จากนี้ไป คนตกงานจะทำมาหากินอย่างไรต่อไป  โรงงานที่ปิดตัวไปแล้ว จะมีโอกาสกลับมาเปิดอีกหรือไม่ หรือการจะไปกู้ยืมเงินมาลงทุนในกิจการ SME ก็มีแต่แคมเปญสวยหรูแต่ปฏิบัติไม่ได้จริง อยากถามว่ารัฐบาลได้ลงไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่ 

“การที่รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้ว แสดงว่ารัฐบาลไม่สนใจเสียงเรียกร้องเรื่องปากท้องของประชาชน เสียงของคนตกงานเกือบ 10 ล้านคนมันเบาไปหรืออย่างไรจึงไม่ยอมยกเลิก ตราบใดที่ยังบังคับใช้กฎหมายพิเศษอยู่แบบนี้ ไม่มีวันที่นักลงทุนจะเชื่อมั่น ดังนั้นจะไม่มีการจ้างงานใหม่ คนก็จะตกงานมากมายอยู่เหมือนเดิม การที่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อ แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่าการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชน" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง