วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 02:23 น.

การเมือง

"บิ๊กตู่"เผยตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคมทั้งระดับประเทศ-จังหวัด

วันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 14.49 น.

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ตลอดจนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในการพิจารณาโครงการที่เหมาะสม ตรงความต้องการประชาชนในแต่ละพื้นที่          

"จะมีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลพื้นที่เดิม และตั้งรัฐมนตรีตรวจสอบพื้นที่ ว่าแผนการใดที่อนุมัติแล้วล่าช้า เกียร์ว่างไหม รัฐมนตรีต้องรายงานสรุปให้ผมทราบ" นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า

การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวจะช่วยตอบสองความต้องการของประชาชน รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม และแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์

"เพราะการที่รัฐบาลจะฟังเองทั้งหมด มันจะห่างจากพื้นที่ต้นทางมากเกินไป ต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนคัดกรอง มีรองนายกฯ มีรัฐมนตรีตรวจสอบรับผิดชอบในพื้นที่ ไปแก้ไขปัญหา ไม่เช่นนั้นปัญหาจะขึ้นมากระทบรัฐบาลทันที" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

วอนอย่าใช้โอกาสทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ถามใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่
 
พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวถึงกรณีมีนักศึกษาโพสต์สื่อว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่ติดตามและจับกุม โดย พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามกลับว่า "แล้วจับหรือยังล่ะ ถ้าทำความผิด แล้วละเมิดกฎหมายจะทำยังไง"  จากนั้นกล่าวต่อไปว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วย ที่รัฐบาลไม่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรัฐบาลพยายามระวังอย่างยิ่ง
          
"อย่าใช้โอกาสนี้ในการทำให้บ้านเมืองมันไม่สงบก็แล้วกัน ต้องดูหลายๆ อย่าง นิสิต นักศึกษา ต้องดูข้อเท็จจริง มีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า การชุมนุมตามสิทธิ์พื้นฐานละเมิดกฎหมายได้ไหม ก็ต้องไปดู กฎหมายก็มีอยู่ ทำอะไรก็ขอให้ใช้ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ ทุกคนทราบดีอยู่แล้วล่ะ เพราะฉะนั้นการพูดจาผมก็ไม่อยากพูดให้เกิดปัญหาอีก ก็ต้องหาวิธีการแก้อย่างละมุนละม่อม" 
          
ส่วนกรณีนักวิชาการร่วมลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า  ก็เป็นเรื่องของท่าน หวังว่าเราคงไม่มีนักวิชาการเพียง 105 คน ทั้งประเทศไทยมีคนเก่งเพียงเท่านี้หรือ นักวิชาการอีกเป็นพันเป็นหมื่นมีความเห็นอย่างไรก็ต้องว่ากันมา แต่ข้อสำคัญคือต้องไม่ก้าวล่วง ล่วงละเมิดอะไรต่างๆ ไม่ใช่ประเทศไทยนะแบบนั้น พร้อมกล่าวต่อไปว่าไม่แปลกใจในรายชื่อที่ปรากฏออกมา เพราะแนวความคิดและการขับเคลื่อนของคนเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ แต่หมิ่นเหม่เกินไปในขณะนี้ และประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ สิ่งที่ทำถูกทำดีก็ควรจะขับเคลื่อน ร่วมมือสร้างอนาคตของเราไปด้วยกัน
          
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ตั้งคำถามด้วยว่า การจัดกิจกรรมมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก มาจากไหน ต้องมีการตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งเป็นกลไกของการทำงานปกติ ไม่ต้องไปสั่งใคร อีกทั้ง ความเดือดร้อนประชาชนมีหลายเรื่อง ไม่ใช่เพียงแต่ที่เขาขอมา มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โควิด-19 สุขภาพ ความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ เรื่องนี้ไม่สำคัญกว่าหรือ อาจจะสำคัญใกล้เคียงกันหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ แต่ส่วนตัวคิดว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ 60 กว่าล้านคน ที่เดือดร้อนอยู่ในวันนี้ และเด็กก็กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ขอให้แสดงความคิดเห็นในทางคิดบวกดีกว่า เพราะจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ในอนาคต ไม่เช่นนั้นก็จะมีความขัดแย้งกันไปตลอด

"บิ๊กตู่-ไพรินทร์" นั่งประธานศบค.เศรษฐกิจ 2 ชุด
 
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (13 ส.ค.) ที่ประชุม ฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยแบ่งคณะกรรมการเป็น 2 สองส่วน ส่วนแรก เป็นคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนและวางกรอบแนวทางการดำเนินการเศรษฐกิจจากหน่วยงาน กำกับดูแล ควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่รับมอบหมาย เป็นกรรมการ โดยมีรัฐมนตรี 11 กระทรวง ประกอบด้วย 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) เป็นกรรมการ รวมถึงมีตัวแทนจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย โดยมีเลขิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมแล้วมีกรรมการ 22 คน

ส่วนอีกชุดคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจ มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเร่งรัดการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะในระยะเร่งด่วน อนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะบริหารเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว และอนุกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อเสนอแนะในรายสาขาต่างๆ ที่มีเอกชนเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการบีโอไอ เลขาธิการสศช. และมีปลัดกระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการด้วย

 

 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง