วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 08:32 น.

การเมือง

เที่ยงคืนลงมติญัตติแก้ไขรธน.แล้ว! "ชวน" ขอ ส.ส.-ส.ว.อภิปรายยึดกรอบเวลา

วันพฤหัสบดี ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563, 11.01 น.

"สุทิน" รับกังวลอาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รองปธ.วุฒิสภา ชี้ 6 ญัตติยังไม่ชัด หากถูกตีตกก็เสนอใหม่ได้ ด้าน "พล.อ.ปรีชา"ชี้ ส.ส.-ส.ว.มีวิจารณญาณโหวต ส่วน "สมชัย" ซัด ส.ว.ทัศนคติดูถูกประชาชนยากต่อความไว้วางใจ         

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563  นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายเมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) ว่า สมาชิกให้ความร่วมมือด้วยดี  ส่วนกรอบเวลาการอภิปรายขณะนี้เหลือเวลา 9 ชั่วโมง ฝ่ายละ 3 ชั่วโมง ยกเว้น ส.ว.เหลือเพียง 2 ชั่วโมงเศษ และหากเป็นไปได้เวลาประมาณ 17.00 น. ก็ขอให้ทุกฝ่ายสรุปให้เสร็จ เพราะตอนลงมติและนับคะแนนจะต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จก่อนเวลา 24.00 น. เนื่องจากต้องปิดสมัยประชุม
          
"ดังนั้นจะขอความร่วมมือ ส.ส.ให้ประหยัดถ้อยคำ เมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขานชื่อ สมาชิกก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวชื่อตัวเองซ้ำ ให้บอกเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพอ ซึ่งเคยใช้แนวทางนี้ในการประชุมที่ TOT มาแล้ว ซึ่งการไม่เอ่ยชื่อประหยัดเวลาได้เป็นชั่วโมง" นายชวนกล่าว
          
สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัย เพื่อเตรียมรับมือผู้ชุมนุม "กลุ่มประชาชนปลดแอก" ที่จะมาติดตามการโหวตลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายชวน กล่าวว่า ส่วนตัวยังเชื่อว่าผู้ชุมนุมมาดี ทุกอย่างน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาต้องกังวล เพราะข้อมูลที่ได้รับรายงานเข้ามายังไม่มีอะไร แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูแลตามปกติ ไม่ได้ขอกำลังเสริมเป็นพิเศษ
          
พร้อมกันนี้ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่พูดคุยและปฏิบัติกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างดี เนื่องจากเชื่อว่าผู้ชุมนุมไม่มีเจตนามาสร้างความวุ่นวายหรือก่อเหตุ ส่วนจะมีใครมาก่อความวุ่นวายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่น่าจะทำอะไรที่เกินขอบเขตของกฎหมาย ถึงแม้จะมีข่าวว่าจะมากดดัน ส.ว.ให้ลงมติเห็นชอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นแค่เพียงความรู้สึกและคำพูดเท่านั้น
"สุทิน" รับกังวล 6 ญัตติแก้ไขรธน. อาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
 
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (23 ก.ย.) ว่า จากการประเมิน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นพ้องตรงกัน แต่ ส.ว.ส่วนใหญ่มีความเห็นต่าง ซึ่งเป็นที่น่าวิตกกังวลว่าทั้ง 6 ญัตติจะไม่ผ่านความเห็นชอบ เว้นแต่วันนี้ ส.ว.จะเปลี่ยนท่าทีและความคิดก็อาจจะพอมีหวัง ส่วนตัวจะพยายามชี้แจงสุดความสามารถ มั่นใจว่าสามารถตอบข้อสงสัยของ ส.ว.ได้ทุกข้อ และอาจจะทำให้ ส.ว.เปลี่ยนใจได้
          
อย่างไรก็ตาม หากในวันนี้ที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบทั้ง 6 ญัตติ นายสุทินยอมรับว่าน่าเป็นห่วง เพราะหากไม่ผ่านก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธความต้องการของหลายภาคส่วน เนื่องจากการเรียกร้องของภาคประชาชนมีความชัดเจนที่ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจเกิดความไม่พอใจขึ้นได้ แต่ขอไม่ประเมินว่าจะไม่รุนแรงเท่าใด เพราะไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และในส่วนของวิปฝ่ายค้านก็จะมีการพูดคุยกับประชาชน หากประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญฝ่ายค้านก็จะยื่นใหม่ในสมัยหน้า
          
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเท่านั้นที่จะเปลี่ยนใจได้ว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งความหวังที่จะให้รัฐสภาเห็นชอบทั้ง 6 ญัตตินั้นลดลงมาแล้ว ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่มั่นใจว่าญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลจะผ่านความเห็นชอบของ ส.ว.หรือไม่
          
นายสุทิน ระบุว่า ต้องติดตามท่าทีนายกรัฐมนตรีว่าจะเล่นการเมืองสองหน้าหรือไม่ คือ การไฟเขียวให้กับพรรคร่วมรัฐบาล แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.มีศูนย์กลางอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว
          
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นเข้ามานั้น หากสภาฯ วินิจฉัยว่าเป็นร่างเดียวกันและหลักการเดียวกัน เมื่อถูกตีตกไปแล้วก็ไม่สามารถยื่นซ้ำได้ แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าหากเป็นคนละสมัยก็น่าจะยื่นใหม่ได้ ซึ่งก็ตั้งความหวังไว้กับร้างของ iLaw และฝ่ายค้านก็อาจจะยื่นประกบไปด้วย

รองปธ.วุฒิสภา ชี้ 6 ญัตติยังไม่ชัด หากถูกตีตกก็เสนอใหม่ได้

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติ ของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา หากไม่ผ่าน จะทำอย่างไรได้บ้างว่า หากญัตติไม่ผ่านมีโอกาสยื่นได้ใหม่โดยจะต้องชี้แจงถึงเหตุผลในการแก้ไขให้ชัดเจน ซึ่งการชี้แจงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน ส่วนกรณีที่จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมากดดันหน้ารัฐสภา ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ ถ้าไม่นำความเดือดร้อนหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว ส่วนรัฐสภาก็ทำหน้าที่พิจารณาไป

เมื่อถามว่า ส.ว.อาจถูกกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุม พ.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า หากมีการนำมวลชนมากดดันเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการเท่ากับว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลอำนาจมืด ทั้งที่ไทยมีวัฒนธรรมจารีตประเพณีมากว่า 800 ปีที่สำคัญรัฐธรรมนูญเป็นจิตวิญญาณของประเทศไม่สามารถพูดกันโดยไม่มีเหตุและผลได้

เมื่อถามว่า สังคมจะผิดหวังหรือไม่ หากรัฐสภาตีตกทั้ง 6 ญัตติ พล.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า ไม่รู้ แต่เห็นว่าความเห็นจากการอภิปรายมี 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายยื่นเสนอ และอีกฝ่ายคัดค้าน ยังไงดูว่าจะเอาอย่างไรแต่พอมาพูดเหตุผลฟังในเหตุผลแล้วส.ส.ก็ต้องให้เหตุผลที่ดี แต่ส.ส.ยังไม่ชัดเจน

"พล.อ.ปรีชา"ชี้ ส.ส.-ส.ว.มีวิจารณญาณโหวตญัตติร่างแก้รธน.

พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายจับตาว่า ส.ว. จะเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มีอะไร เพราะมีระเบียบและข้อบังคับกำหนดไว้ครอบคลุมอยู่แล้ว          

เมื่อถามว่า เสียง ส.ว. 84 เสียง เป็นปัจจัยสำคัญ และสังคมก็คาดหวังที่จะให้ผ่านญัตติร่างแก้รัฐธรรมนูญญัตติใดญัตติหนึ่ง เพื่อนำไปสู่หนทางคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า เราต้องดูความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศเกิดจากอะไร และสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร สภาพของประเทศเป็นอย่างไร ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลได้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข แต่ ส.ส. ส.ว ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด แล้วแต่วิจารณญาณแต่ละคน เพราะทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม และเหตุผลอยู่ในตัวอยู่แล้ว

"สมชัย"ซัด ส.ว.ทัศนคติดูถูกประชาชน ยากต่อความไว้วางใจ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn ระบุว่า ฟังอภิปรายของ ส.ว.ตลอดวันที่ผ่านมาเป็นบทสะท้อนถึงวิธีการคิด ของคนที่มียศทหาร คนที่มีตำแหน่งเป็น ส.ว.มานานทุกยุคทุกสมัย คนที่อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจ จนมีมุมมอง และทัศนคติที่ดูถูกประชาชน เช่น ไม่สามารถไว้วางใจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญกันเอง เหมือนตีเช็คเปล่า ยากต่อความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาที่รักษาประโยชน์ของประชาชนเสียจริงๆ
 

หน้าแรก » การเมือง