วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 00:17 น.

การเมือง

ไม่สนคำขู่! 40องค์กรสื่อเมียนมายันใช้คำ"รัฐประหาร"ต่อไป

วันพฤหัสบดี ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 21.57 น.

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564   เพจ The Irrawaddy - English Edition ได้รายงานว่า องค์กรสื่อในประเทศเมียนมาจำนวน 40 องค์จะยังคงยืนหยัดทำหน้าที่สื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาและจะยังคงใช้คำว่า"รัฐประหาร" แม้ว่าเผด็จการทหารเมียนจะออกมาเตือนไม่ให้ใช้ ก็ตาม โดยตั้งอยู่บนหลักของเสรีภาพและจริยธรรมของการเป็นนักข่าวมีอาชีพ

"อินโดนีเซีย" เคลื่อนไหว ต้านการยึดอำนาจในพม่า ส่วน "ไทย" เปิดบ้านต้อนรับตัวแทนคณะรัฐประหาร

ขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ได้เสนอบทความเรื่อง "อินโดนีเซีย" เคลื่อนไหว ต้านการยึดอำนาจในพม่า ส่วน "ไทย" เปิดบ้านต้อนรับตัวแทนคณะรัฐประหาร" ความว่า 

ขณะที่ไทยถือว่า วันนะ หม่อง ลวิน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า แต่อินโดนีเซียจงใจเอ่ยถึงเขาเฉพาะชื่อ ไม่ใส่ตำแหน่งให้ เป็นการแสดงออกทางการทูตว่า ยังไม่ยอมรับการแต่งตั้งของคณะทหาร
ไทยแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจ และปวารณาตัวว่าจะสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่ตั้งขึ้นใหม่ให้สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างราบรื่นต่อไป
          
การพบปะกันระหว่าง รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า วันนะ หม่อง ลวิน กับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรทโน มาร์ซูดี และรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ อาจจะตีความไปได้สองทาง ด้านหนึ่งอาจจะมองได้ว่านี่เป็นความพยายามของสมาชิกกลุ่มอาเซียนที่พยายามช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในพม่า แต่อีกด้านหนึ่งก็มองได้เช่นกันว่านี่เป็นการให้ความชอบธรรมกับการยึดอำนาจทางการเมืองของกองทัพพม่า ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศแต่ละกลุ่มนั้นวางจุดยืนของตัวเองในเรื่องนี้อย่างไร
          
ในทันทีที่มีการรัฐประหารในพม่า ประธานอาเซียนในปีนี้ คือ บรูไน ได้ออกถ้อยแถลงแบบนุ่มนวลชนิดที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เรียกร้องให้สมาชิกยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย นิติรัฐ ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เน้นย้ำว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสาระสำคัญของสันติภาพ และความมั่งคั่ง มั่นคง วัฒนาถาวรของภูมิภาค
          
นอกจากแถลงการณ์แผ่นเดียวแล้ว อาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่มีสมาชิกทั้ง 10 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ ในขณะที่ประชาชนชาวพม่าเรือนล้านทั้งในและนอกประเทศต่างออกมาประท้วง เรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจให้กับ ออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือนพฤศจิกายน 2563 พร้อมกันกับการประณาม คว่ำบาตร และกดดันอย่างหนักหน่วงจากประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา
          
ในบรรดาสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ประเทศที่เคลื่อนไหวหนักสุดหลังการรัฐประหารในพม่าคือ อินโดนีเซีย โดยร่วมกับมาเลเซียเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนเปิดประชุมสมัยพิเศษเพื่อหารือเรื่องสถานการณ์ในพม่า แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสมาชิกอื่นๆ เท่าใดนัก การประชุมนั้นจึงยังไม่เกิดขึ้น ใช่ว่าการพบปะกันของผู้นำอาเซียนเป็นเรื่องยากเย็นอะไร สมัยนี้เจอกันทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว แต่ก็ประชุมกันไม่ได้ เพราะไม่อาจจะหาเอกภาพในการแสดงจุดยืนได้
          
อินโดนีเซียจึงเลือกที่จะเคลื่อนไหวเดี่ยว รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรทโน จึงทำตัวเป็นกระสวยการทูต บินไปเจรจากับ บรูไน สิงคโปร์ และไทย ซึ่งความจริง วางแผนบินเข้าไปพม่าต่อจากไทย แต่พอดีว่า ไทยเชิญ วันนะ หม่อง ลวิน มาเจอที่กรุงเทพฯ เสียก่อน อีกทั้งก่อนหน้านี้ ยังได้พูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับรัฐมนตรี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซึ่งทำให้ประชาคมโลกมองเห็นถึงความเอาจริงเอาจังของอินโดนีเซียในเรื่องนี้โดดเด่นกว่าใคร อาจจะเรียกได้ว่าบดบังอาเซียนในฐานะกลุ่มและองค์กรระหว่างประเทศเลยก็ว่าได้
          
แต่ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากข้อเสนอที่ให้อาเซียนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปีได้รับการปฏิเสธอย่างทันควันจากประชาชนพม่าที่ยืนหยัดประท้วงมาแรมเดือนแล้ว เพราะข้อเสนอนั้นดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน กลับไปสอดคล้องกับสิ่งที่มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพที่ก่อรัฐประหาร ประกาศว่าจะดำเนินการอยู่แล้ว
         
 ในความเห็นของผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหารชาวพม่านั้น การจัดเลือกตั้งใหม่เป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นกองทัพพม่าก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีการโกงมโหฬารอย่างที่กล่าวหา และถ้าเลือกตั้งในเร็ววัน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยก็ชนะอีก กองทัพพม่าก็คงจะไม่ยอมมอบอำนาจให้ผู้ชนะอีกอยู่ดี แต่ถ้าจะทำให้พรรคที่กองทัพสนับสนุนคือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนาเป็นผู้ชนะ ก็ดูเหมือนจะต้องทำสารพัดวิธี และคงไม่ต่างอะไรกับการโกงเลือกตั้ง แล้วชุมชนนานาชาติจะยอมรับการเลือกตั้งแบบนี้หรือ?
          
ตอนหลังอินโดนีเซียจึงกลับลำออกมาปฏิเสธว่า ไม่เคยมีความคิดเช่นนั้น ถ้อยแถลงล่าสุดของ เรทโน หลังการพบปะ วันนะ หม่อง ลวิน ที่กรุงเทพฯ จึงพูดแต่เพียงว่า ต้องการบอกให้พม่าและโลกรู้ว่าอินโดนีเซียห่วงกังวลต่อสถานการณ์มาก และปรารถนาให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น อย่าใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน และว่าอินโดนีเซียยืนอยู่ข้างประชาชนชาวพม่า ขอให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน เพื่อความสมานฉันท์และความไว้วางใจกัน
          
ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ไทยถือว่า วันนะ หม่อง ลวิน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า แต่เรทโน จงใจเอ่ยถึงเขาเฉพาะชื่อ แต่ไม่ใส่ตำแหน่งให้ เป็นการแสดงออกทางการทูตว่า ยังไม่ยอมรับการแต่งตั้งของคณะทหาร (ว่ากันโดยเคร่งครัด ออง ซาน ซูจี ก็ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าอยู่) อีกทั้งยังพูดโดยชัดแจ้งว่า อินโดนีเซียยังติดต่อกับคณะกรรมาธิการสภาพม่า (คือกลุ่มสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนรวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร) อยู่ด้วย
          
แม้ว่าสิ่งที่อินโดนีเซียดำเนินการทั้งหมดจะยังไม่เกิดผลอะไร แถมเจอทัวร์ลงมาแล้วเพราะผู้ประท้วงส่วนหนึ่งไม่พอใจข้อเสนอเรื่องเลือกตั้งจึงพากันไปชุมนุมหน้าสถานทูตอินโดนีเซียในย่างกุ้ง แต่นั่นก็ยังดีกว่าท่าทีของไทยหลายเท่า ที่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่า เห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจ และปวารณาตัวว่าจะสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่ตั้งขึ้นใหม่ให้สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างราบรื่นต่อไป ไทยในฐานะมิตรประเทศต้องให้กำลังใจพม่าเสมอไม่ว่าจะถูกหรือผิด ทำราวกับว่า การยึดอำนาจโดยกองทัพเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรม และการประท้วงต่อต้านเป็นสิ่งผิด วุ่นวายไร้เสถียรภาพ
          
ท่าทีแบบนี้ของไทย บวกกับข้อเสนอที่แสนเชยที่ให้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2564 ทำให้อาเซียนกลายเป็นสมาคมชวนหัว เพราะสถานการณ์นับจากนี้ไปจนถึงวันประชุมนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อาจจะมีการนองเลือดไปแล้วหลายครั้งแล้วก็เป็นได้ ถึงวันนั้นการประชุมจะมีความหมายอะไร อย่างมากก็แถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
          
บทความโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวและนักวิจัย ซึ่งเชี่ยวชาญประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน

 

หน้าแรก » การเมือง