วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:36 น.

การเมือง

"เทพไท"ติงรัฐบาลไทยส่งตัวแทนร่วมวันกองทัพเมียนมา

วันอาทิตย์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564, 11.30 น.

"เทพไท"ติงรัฐบาลไทยส่งตัวแทนร่วมวันกองทัพเมียนมา เสนอบอยคอตรัฐบาลเผด็จการทหาร ขณะที่ ผบ.ทหารโลกประณามเมียนมา"ทหารอาชีพต้องไม่ทำร้ายประชาชน"

วันที่ 28 มีนาคม 2564  นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟสบุ๊กส่วนตัว ข้อความว่า เมื่อวานนี้(27/3/64) มีพิธีสวนสนามในวันกองทัพประเทศพม่า โดยมีตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมพิธีสวนสนามในครั้งนี้ด้วย ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนท่าทีของรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วม หรือยอมรับรัฐบาลเผด็จการทหารของประเทศพม่า ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซานซูจี และใช้กำลังอาวุธเข่นฆ่าประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยมือเปล่า เสียชีวิตจากการปราบปราม และสลายการชุมนุมของทหารพม่าจำนวนหลายร้อยศพ

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในทุกกรณี รัฐบาลไทยต้องยืนหยัดในหลักสิทธิมนุษยชนสากล ต่อต้านการสังหารประชาชนชาวพม่าอย่างอำมหิต และมีการฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสังเวยวันกองทัพพม่านับ100ศพ รัฐบาลไทยจะอ้างเรื่องกิจการภายในของประเทศพม่านั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชายแดนติดกันหลายร้อยกิโลเมตร และมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจมากที่สุด จะต้องกดดันหรือแซงชั่นให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า หยุดเข่นฆ่าประชาชน และคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด “เผด็จการจงพินาศ ประชาชาติจงเจริญ”

ผบ.ทหารโลกประณามเมียนมา"ทหารอาชีพต้องไม่ทำร้ายประชาชน" 

ด้านผู้นำทางทหารของหลายสิบประเทศรวมทั้งสหรัฐ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้ร่วมกันประณามการใช้กำลังร้ายแรงของกองทัพเมียนมาต่อพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ การประณามร่วมครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก และผูบัญชาการต่างๆ มีแถลงการณ์ร่วมกันหลังจากกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาสังหารประชาชนไปถึง 114 คนในวันเสาร์ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย ถือเป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ
          
การสังหารประชาชนยังเกิดขึ้นในวันที่รัฐบาลทหารจัดให้มีการแสดงแสนยานุภาพครั้งสำคัญเนื่องในวันกองทัพ (Armed Forces Day) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 27 มีนาคมของทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นในปี 1945 โดยกองทัพเมียนมา
          
"ในฐานะหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เราขอประณามการใช้กำลังร้ายแรงต่อผู้ที่ไม่มีอาวุธโดยกองทัพเมียนมาและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง"
          
"ทหารอาชีพปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในการปฏิบัติและมีหน้าที่ในการปกป้อง - ไม่ใช่ทำร้าย - ประชาชนที่กองทัพมีหน้าที่ต้องรับใช้ที่" เจ้าหน้าที่ทหารนานาประเทศกล่าวในแถลงการณ์ร่วม
          
"เราขอเรียกร้องให้กองกำลังเมียนมายุติความรุนแรงและลงมือทำงานเพื่อฟื้นคืนความเคารพและความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชนเมียนมาที่สูญเสียไปจากการกระทำของตน"
          
นอกเหนือจากสหรัฐ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ลงนาม ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, เยอรมนีกรีซ, อิตาลี, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรของสหรัฐ
          
แต่ในขณะที่พันธมิตรสหรัฐกับนาโตประณามกองทัพเมียนมา อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียกลับไปพบปะหารือกับนายพลมินอ่องหล่ายผู้นำรัฐประหารเมียนมาในกรุงเนปยีดอ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารกับกองทัพเมียนมา นับเป็นเจ้าหน้าที่ต่างประเทศระดับสูงคนแรกที่เดินทางเยือนเมียนมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

หน้าแรก » การเมือง