วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 12:38 น.

การเมือง

เพื่อไทยจวกรัฐไม่เร่งคุม"โรคลัมปี สกิน"ระบาด "มนัญญา" กำชับ อ.ส.ค. และสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมเฝ้าระวัง

วันศุกร์ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 15.53 น.

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายพัฒนา สัพโส  ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เกษตรกรในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงโคขุนโพนยางคำ   ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการระบาดของโรคลัมปีสกินซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ที่ไม่มีความชัดเจนในมาตรการควบคุมการระบาด ไม่เร่งรัดจัดหาวัคซีนเข้ามาป้องกันการติดเชื้อ  และยังไม่มีการจัดหายาในการควบคุมการลุกลามของโรคในเบื้องต้น ซึ่งเป็นยาฉีด ราคาเข็มละ 300 บาท  โดยโค 1 ตัวต้องฉีด 3 เข็มจึงจะระงับการลุกลามของแผลพุพองได้  เกษตรกรรายย่อยซึ่งรายได้ไม่พอรายจ่าย  ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อยารักษาโรค  จำใจปล่อยให้โคล้มตาย  สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก  โดยราคาโคขุนมีราคาขายสูงถึงตัวละ 80,000 - 100,000 บาท โคต้นน้ำ ตัวละ 50,000-60,000 บาท

นายพัฒนา ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้โค กระบือ ในจังหวัดสกลนคร มีหลายหมื่นตัวมีสภาพไม่ต่างกัน คือขาดแคลนวัคซีนในการป้องกันโรคระบาด ส่วนเกษตรกรก็ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงเพียงพอ   จึงอยากให้รัฐบาลโดยกรมปศุสัตว์มองเห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรด้วย  เพราะสถานะของกรมปศุสัตว์ตอนนี้ไม่ต่างจาก ศบค.ที่มีหน้าที่บริหารจัดการวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้โรคระบาดขยายวงกว้างและสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากกว่านี้ 

“อนาถใจมากประเทศไทยขาดทั้งวัคซีนคนและวัคซีนวัว ควาย  รัฐต้องเร่งหาวัคซีนให้เร็วกว่านี้  ก่อนที่กรมปศุสัตว์จะต้องรายงานยอดโค กระบือ และสุกรป่วยและตายรายวันเหมือนโควิด-19 ” นายพัฒนากล่าว 

"มนัญญา" กำชับ อ.ส.ค. และสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมเฝ้าระวัง

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิด "โครงการรณรงค์ป้องกันโรคลัมปี สกิน" (Lumpy Skin Disease) ณ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี   พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค.  ผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม โอกาสนี้ได้มอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง พร้อมถังฉีดพ่นให้กับสหกรณ์เขตภาคกลาง 15 แห่งที่ส่งน้ำนมให้ อ.ส.ค. และร่วมฉีดพ่นยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นพาหะของโรคลัมปี สกิน ณ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง อ.ส.ค. จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร พร้อมชมการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ณ ณัฎฐ์ฟาร์ม ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
 
ทั้งนี้ นส.มนัญญา กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ที่ยังวิกฤติหนักในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อย่างมากและกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตนในฐานะกำกับดูแล อ.ส.ค. มีความห่วงใยต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน อ.ส.ค. มีสมาชิกส่งน้ำนมดิบให้กับ อ.ส.ค. ทั่วประเทศจำนวน 5,952 ราย มีจำนวนโครวม 174,658 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้อ.ส.ค.ประมาณ 874 ตัน/วัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 15 สหกรณ์  มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 2,380 ราย และจำนวนโคนม 65,863ตัว จึงได้สั่งการให้ อ.ส.ค.เฝ้าระวังโรคในพื้นที่พร้อมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และให้รายงานสถานการณ์ให้ทราบอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
    
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศประมาณ 11,393 ครอบครัว จำนวนโคทั้งหมด 427,311 ตัว หากไม่เร่งยับยั้งการระบาดในพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อาจส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือไม่ให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายโค กระบือที่เป็นโรค ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม หากโคนมติดโรคอาจทำให้น้ำนมลดลง กระทบรายได้ ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับเกษตรกร และเชื่อมั่นว่าสามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้ ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ได้เร่งนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ลอตแรก 60,000 โดส นอกจากนี้ ตนเตรียมลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และอำนาจเจริญ เพื่อติดตามสถานการณ์และมอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง ให้กับผู้เลี้ยงโคนม” รมช.มนัญญา กล่าว
 
ขณะที่นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค. มีสหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ทุกภูมิภาคจำนวน 52 แห่ง ปริมาณน้ำนมดิบ แยกเป็นพื้นที่ภาคกลางจำนวน 15 สหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 สหกรณ์ ภาคใต้ 8 สหกรณ์ ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) 3 สหกรณ์และภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย) จำนวน 16 สหกรณ์ ซึ่งทั้งหมดจะส่งน้ำนมดิบสำหรับป้อนกำลังผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คเพื่อจำน่ายในรูปแบบนมพาณิชย์และนมโรงเรียนประมาณวันละ 600-800 ตัน/วัน ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ที่ส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ ทำให้ อ.ส.ค. กำชับเจ้าหน้าที่กวดขันและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่การเลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค.อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมนมของประเทศ  รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมโคนมของ อ.ส.ค. ในอนาคตด้วย

หน้าแรก » การเมือง