วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 08:42 น.

การเมือง

อธิบดีสรรพสามิตสั่งเด้ง 5 จนท.ล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด

วันพฤหัสบดี ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 10.32 น.

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2564 จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เผยแพร่เรื่องราวถูกเจ้าหน้าที่ล่อซื้อน้ำส้มจำนวน 500 ขวด ก่อนที่จะโดนถามหาใบอนุญาต พร้อมกับเรียกเงินค่าปรับจำนวน 12,000 บาท ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถามถึงความเหมาะสม
 
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ได้มีการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้ง 5 ราย ออกจากพื้นที่ที่ทำงานในปัจจุบัน และได้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ว่าเหตุที่เกิดขึ้น กลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าว กระทำเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และ เป็นการทำให้ข้อเท็จกระจ่างแก่สังคม 
 
ก่อนหน้านี้นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวกรมสรรพสามิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจริง และยืนยันว่า ไม่ได้มีการเรียกค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 12,000 บาท ทุกอย่างมีหลักฐาน กล้องวงจรปิดของร้าน ยืนยันข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด
          
ทั้งนี้ ในส่วนของการล่อซื้อ โดยการสั่งให้ผลิต 500 ขวด เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ที่เก็บรวบรวมหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ร้านดังกล่าว ประกอบกิจการในลักษณะผู้ประกอบอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขชัดเจน ว่ามีเครื่องจักรสำหรับการผลิต และขายส่งในปริมาณมากทุกวัน จึงต้องมีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นการปรักปรำผู้ประกอบการ
          
"ในกรณีนี้ ขอแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เจ้าหน้าที่กรม กับ ผู้จัดการร้านค้า ซึ่งในวันเกิดเหตุ กรมได้ลงพื้นที่ เพราะมีผู้แจ้งเบาะแส ว่ามีการผลิตในลักษณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มีการขายส่ง แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเสียภาษีให้ถูกต้อง จึงเข้าไปแนะนำ ซึ่งผู้จัดการก็เข้าใจ และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าจะเข้าไปจดทะเบียนให้ถูกต้องกับกรมในวันต่อมา" นายณัฐกร กล่าว
          
ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าปรับ หรือยึดสินค้าใด ๆ กลับมาที่กรม แต่ให้ข้อมูลว่า จากจำนวนสินค้าในสถานที่ประกอบอุตสาหกรรม เมื่อคำนวนเป็นเม็ดเงินภาษี จะอยู่ที่ราว 1,200 บาท แต่เมื่อไม่มีการจดเสียภาษีถูกต้อง จะเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 10 เท่า จึงคำนวนมาอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ไม่ได้มีการเรียกเก็บแต่อย่างใด
          
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก มาจากตัวเจ้าของกิจการ ที่โพสต์รายละเอียดดังกล่าว ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งข้อมูลบางเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้กรมได้รับความเสียหาย แต่ต่อมาได้ปิดเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งกรมก็ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ และยืนยันจะไม่ฟ้องร้องเอาผิดใด ๆ

"ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" สงสัยพฤติกรรม จนท.สรรพสามิต  

ขณะที่เพจ "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" เพจที่ออกมาแฉเรื่องราวของเสาไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆจนกลายเป็นประเด็นดรามาในโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีแม่ค้าน้ำส้มถูกล่อซื้อ โดยได้นำข้อกฎหมายมาให้ชาวเน็ตพิจารณา ว่า

          "มีข้อกฎหมายชวนพิจารณา
          1. สั่งของแล้วไม่รับ บล็อกเฟซ แจ้งความดำเนินคดีได้ครับ จัดได้เลย
          2. กรมฯ บอกว่าไม่ได้ปรับ ร้านบอกว่าเอาเงินไป 12,000 บาท ถ้าเอาไปไม่มีใบเสร็จอาจเข้าข่ายเรียกรับ + 157
          3. ถ้าปรับจริง มึเอกสาร การสั่งซื้อเอง ปรับเอง เป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาโดยไม่สุจริต อาจ 157+ กลั่นแกล้งให้ได้รับโทษอาญา"
          
สำหรับมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต คือ
          
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          
มาตรานี้แยกการกระทำเป็น 2 ความผิด คือ
          
1.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด คำว่า “โดยมิชอบ” หมายความถึง โดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2521 ที่วินิจฉัยว่า “การกระทำโดยมิชอบนั้น เฉพาะตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นโดยตรงที่ได้รับมอบให้มีหน้าที่นั้นๆ ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานแล้ว ย่อมไม่มีความผิด”
          
ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ไม่อยู่ในหน้าที่หรืออยู่ในหน้าที่แต่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยหน้าที่โดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิด ดังนั้น ถ้ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็เป็นการกระทำความผิดตามมาตรานี้
          
องค์ประกอบของความผิดมาตรานี้อยู่ที่ มูลเหตุชักจูงใจ คือ “มีเจตนาพิเศษ” ที่ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งรวมถึงความเสียหายในทุกๆด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น เช่น ความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเสียหายแก่เสรีภาพ เป็นต้น
          
ตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ที่กระทำผิดความฐานมีสุราผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง แล้วทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุม การทำร้ายนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจขณะจับกุม แต่เป็นทำร้ายหลังการจับกุมแล้ว จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2479) แต่ถ้า เป็นพนักงานสอบสวน ในระหว่างสอบสวนไปทำร้ายผู้ต้องหาเพราะไม่ยอมรับสารภาพ เช่นนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อเกิดความเสียหายแก่เขาย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2508) หรือ เจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการออกใบสุทธิจดเปลี่ยนแปลงข้อความไม่ตรงกับความจริงและผิดระเบียบ เพื่อให้เขานำไปแสดงต่อผู้บังคับบัญชาในการขอบำเหน็จความชอบนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายจึงมีความผิดตามมาตรานี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407-410/2509) เป็นต้น
          
2.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
          
คำว่า “โดยทุจริต” ตามความหมายนี้ คือ การใช้อำนาจในหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น และที่สำคัญคือ “ต้องมีหน้าที่” คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นต้องอยู่ในหน้าที่ ดังนั้นหากไม่อยู่ในหน้าที่หรืออยู่ในหน้าที่แต่ทำโดยชอบและโดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สามารถพบได้ในหลายกรณี เช่น พนักงานที่ดินไม่โอนที่ดินตามคำสั่งนายอำเภอ โดยทุจริตและอาจเสียหายแก่ผู้อื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2512) เจ้าพนักงานเทศบาลมีหน้าที่เก็บเงินลักเอาใบเสร็จเก็บค่ากระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อีกผู้หนึ่งไป เพื่อไปเรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าแล้วเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2503) หรือ นายตำรวจจับคนนำพลอยหนีภาษีไม่นำส่งดำเนินคดี เอาพลอยไว้เสียเอง เป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2525)
          
การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หากการกระทำนั้นไม่เกิดความเสียหายแล้วย่อมจะไม่เป็นความผิดตามมารา 157 ในขณะที่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ แม้ไม่เกิดความเสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้
          
อ่านประกอบข่าว - มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต...เป็นอย่างไร?

หน้าแรก » การเมือง