วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 01:53 น.

การเมือง

“ไร่รักถิ่น” เปิดแนวคิดต่อยอดธุรกิจ “โคก หนอง นา”

วันอาทิตย์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564, 13.48 น.

“แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์  สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก”  นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของประเทศไทยในอดีต           

กาญจนบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ขุนแผน แคว้นโบราณ”  เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศไทย มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเชียงใหม่  มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร   พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านเหนือและตะวันตกของจังหวัด มีเขตพื้นที่ติดกับจังหวัดตากทางด้านทิศเหนือ แต่ก็ไม่มีถนนเชื่อมต่อกัน เนื่องจากมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นมรดกโลกและมีป่าที่อุดมสมบูรณ์รกทึบสลับกับมีภูเขาอันสลับซับซ้อน จังหวัดกาญจนบุรีประกอบด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม นอกจากมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้ว งดงามไปด้วยแหล่งโบราณสถานและแหล่งน้ำตก ดังคำขวัญของจังหวัด
          
จังหวัดกาญจนบุรี แบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 13 อำเภอ 95 ตำบล 959 หมู่บ้าน 206 ชุมชน มีประชากรทั้งหมดประมาณ 891,976 คน
         
“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้รับการชี้แนะจาก “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ให้เดินทางไปสำรวจแปลงโคกหนองนาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ  ในอำเภอสังขละบุรีและอำเภอใกล้เคียงหรือไม่ก็ “ถิ่นทุรกันดาร” ในจังหวัดกาญจนบุรี  เพื่อไปดูความสำเร็จของแปลงโคกหนองนา ความรู้สึกของประชาชนที่เข้าร่วมทำโคกหนองนา มีความรู้สึกอย่างไร มีอะไรอยากจะเสนอแนะเพื่อปรับปรุงในการขับเคลื่อนต่อไปบ้าง
           
“อำเภอสังขละบุรี” เป็นอำเภอติดชายแดนพม่าด้านเจดีย์สามองค์ แปลงโคกหนองนาที่จะไปสำรวจ อยู่ห่างจากด่านเจดีย์สามองค์ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างไทยและพม่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของ  “ทหารมอญ” กู้ชาติ และทั้งเป็นสถานที่ตั้งทัพของ “ทหารญี่ปุ่น” ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีหมู่บ้านชื่อ “บ่อญี่ปุ่น”
            
ปัจจุบันอำเภอสังขละบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกาญจนบุรีโดยเฉพาะ“สะพานไม้หลวงพ่ออุตตมะ” และชุมชนมอญวังกะ มีรีสอร์ตผุดขึ้นมากมาย มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือแม้กระทั้ง “อำเภอทองผาภูมิ” ซึ่งการขับรถไปสังขละบุรีต้องผ่านทองผาภูมิ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามหลายแห่ง
            
การเดินทางไปสังขละบุรี พัฒนาการจังหวัดกาญจนบุรีชี้เป้าไปที่แปลงขนาด 15 ไร่ ชื่อ “ไร่รักถิ่น” ของ “ร.ต.อ.สุวิทย์ ราชสุภา” และ “น.ส.ภัทรา ฐิติเวชญาคุณ”  ตั้งอยู่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เส้นทางไปด่านเจดีย์สามองค์ชายแดนไทย -พม่า

เจ้าของแปลงร่วม คนแรกเป็นอดีตตำรวจที่ย้ายมาประจำอยู่พื้นที่ชายแดนแห่งนี้นานมากกว่า 40 ปีแล้ว ส่วนคนที่สองเป็นแกนนำชุมชนคือ “ผู้ใหญ่บ้าน”         

“ผมมาอยู่สังขละบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2520 พื้นเพเป็นคนจังหวัดพิจิตร สังขละบุรีสมัยก่อนมีแต่ป่าเขา วัดหลวงพ่ออุตตมะยังเป็นวัดเก่า มิใช่ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ตอนนั้นการเดินทางต้องอาศัยเรือในการเดินทาง หลังเกษียณก็อยากจะทำสวนทำไร่นา เพราะครอบครัวพ่อแม่ทำนามาก่อน แถวนี้ไม่มีใครทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลย พอดีทาง พช. (กรมการพัฒนาชุมชน) เขาประชาสัมพันธ์โครงการโคกหนองนา  เราก็อยากทำ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนตำบลหนองลูนี้ จึงอยากจะทำเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารให้กับคนในชุมชนดูเป็นแบบอย่าง จึงไปสมัครขนาดแปลง 15 ไร่ ซึ่งสุดท้ายทาง พช. ก็ให้เข้าร่วมโครงการ ” ร.ต.อ.สุวิทย์ ราชสุภา อดีตตำรวจในวัยเกษียณเล่าให้ทีมงานฟัง

ส่วน น.ส.ภัทรา ฐิติเวชญาคุณ  หรือ “ผู้ใหญ่แอ๊ด” บอกว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินของพี่เอง แต่มอบให้พี่สุวิทย์เป็นคนดำเนินการ ทำ คือ คิดและทำร่วมกัน
        
“จริง ๆ แล้วเราสนใจศาสตร์พระราชา ที่ดินตรงนี้เดิมทีก็ไม่ได้ลงอะไรไว้มากมายเป็นที่ดินว่างเปล่า เราก็คิดว่ามีโครงการนี้มาน่าจะเกิดประโยชน์ แล้วก็เราอยากจะทำเป็นร้านค้าชุมชนเพื่อรับของในหมู่บ้านต่างๆ มาขายรวมกันที่นี่ คิดร่วมกันกับพี่สุวิทย์ ว่า เราอยากจะทำที่ตรงนี้ให้เป็นหนึ่งศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน สอง เป็นสถานที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสามเป็นสถานที่กระจายสินค้าเหมือนศูนย์ OTOPด้วย..”

การเดินสำรวจบริเวนพื้นที่โดยรอบขนาด 15 ไร่ของไร่รักถิ่น  ปัจจุบันขุดสระเรียบร้อยแล้วจำนวน 7 บ่อ ในขณะที่ตรงกลางก็มีสระน้ำตามธรรมชาติ การแบ่งโซนพื้นที่ค่อนข้างสวยงาม ด้านหน้าเป็นโซนปลูกองุ่นและนาข้าว มีแปลงปลูกพืชสวนสมุนไพร และบนโคกมีไม้เศรษฐกิจประเภทพะยูง ยางนา ประดู่ป่า เป็นต้น  ส่วนฐานเรียนรู้ขนาด 9 ฐาน เช่น  ฅนรักษ์แม่ธรณี,ฅนรักป่า,ฅนเอาถ่าน หรือ ฅนติดดิน มีครบหมดแล้ว มีโรงเรือนเพาะเห็ดฟาง และเป็นที่น่าสังเกตความตั้งใจของเจ้าของแปลงที่ทำด้วยความจริงจัง อีกประการหนึ่งคือ ทีมงาน นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ใส่เสื้อฟอร์มพร้อมโลโก้ของกรมการพัฒนาชุมชนครบทุกคน อาจเป็นเพราะทั้ง 2 ท่านมองเห็นโอกาสและมีทุนพอสมควรเนื่องจากเป็นนักธุรกิจท้องถิ่นด้วย

ดังที่  “ผู้ใหญ่แอ๊ด” บอกกับเราว่า ปัจจุบันนอกจากทำ โคกหนองนา แล้วยังดำเนินธุรกิจด้านการบริการหรือมี “แมกไม้รีสอร์ท” ในตัวอำเภอสังขละบุรีด้วย ส่วนคุณสุวิทย์ ก็มีร้านวัสดุก่อสร้าง
        
“ตอนที่ทหารมาขุด เขาบอกตามแบบต้องมี  7 บ่อเราก็เสียดายนะ แต่ก็ต้องยอมเพราะมันเป็นตามแบบตามที่กรมการพัฒนาชุมชนออกแบบไว้ขนาด 15 ไร่ ที่ดินแปลงนี้อนาคตคิดว่า นอกจากทำเป็นศูนย์เรียนรู้สถานที่แปรรูประดับตำบลแล้ว อาจต่อยอดเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโฮมสเตย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย ต่อยอดจากโรงแรมและรีสอร์ทที่ทำอยู่ ซึ่งสังขละบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่ห่างจากตัวอำเภอนิดเดียวและอีกอย่างก็เป็นเส้นทางนักท่องเที่ยว คนค้าขาย ใครจะเดินทางไปชายแดนที่ด่านเจดีย์สามองค์ก็ต้องผ่านตรงนี้ เลยอยากทำร้านอาหาร ร้านกาแฟตรงด้านหน้าแปลงที่เป็นโซนไร่องุ่นและนาข้าว ซึ่งอนาคตตรงแปลงองุ่นจะมีสวนสับปะรด และตรงนาข้าวอาจจะปรับเปลี่ยนเป็นสวนดอกไม้ ”

“ไร่รักถิ่น” ขนาด 15 ไร่  เท่าที่ทีมงานข่าวเฉพาะกิจเดินทางสำรวจมาทั่วประเทศ ที่นี้ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งตามมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชนที่มีครบทุกอย่างแล้ว    ร.ต.อ.สุวิทย์ บอกเพิ่มเติมว่า
         
ที่มองว่าเรามีครบและทำได้เร็วขนาดนี้ เพราะไร่รักถิ่นเรามี นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจำนวน 10 คน เป็นงานหมดเลย เก่งทุกคน ช่วยกันทำ ช่วยกันคิด เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ส่วนอุปกรณ์ เครื่องมือบางอย่าง พช.ยังไม่ส่งมา เราก็ออกให้ก่อนแล้วเบิกทีหลัง เพราะหากรอตามระบบราชการจะล่าช้า
         
“พช.กาญจนบุรีดูแลเราดีมาก มาเยี่ยมประจำมาดูแปลง คอยมาแนะนำ ร่วมกันทำงาน ยิ่งพัฒนาการอำเภอที่นี่ท่านจะใส่ใจดียิ่ง เราทำงานร่วมกันกับคน พช. แบบมีความสุข..”
         
การได้พูดคุยกับ ร.ต.อ.สุวิทย์ ราชสุภา และ น.ส.ภัทรา ฐิติเวชญาคุณ   ทำให้รู้แนวคิดของทั้ง 2 คนที่คิดจะต่อยอดใน “ขั้นก้าวหน้า” จาก โคก หนอง นา นอกจากจะเป็นศูนย์เรียนรู้,สถานที่แปรรูปและสถานที่จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชนหรือ OTOP แล้ว ทั้ง 2 ท่านยังคิดต่อยอดจากการทำโคกหนองนาให้เป็นสถานที่ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร”  มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีโฮมสเตย์ มีสวนดอกไม้ เพื่อสร้างรายได้จากแปลงแห่งนี้ด้วย เนื่องจากสังขละบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวและติดชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย แนวคิดต่อยอดธุรกิจ คงประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

คุณผู้อ่านท่านใดสนใจอยากจะเที่ยวสังขละบุรีไปดูแปลงโคกหนองนาของทั้ง 2 ท่านหรือติดตามสถานที่พัก “แมกไม้รีสอร์ท”สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-1941-2929,08-1991-1472
        
ก่อนกลับกรุงเทพมหานครทีมงานได้รับข้อมูลว่าที่ “อำเภอไทรโยค” มีแปลงโคกหนองนาอีกแปลงหนึ่ง ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ขุดสระเรียบร้อยแล้ว ที่ดินตั้งอยู่บนพื้นที่ ส.ป.ก. ยื่นขอสมัครกับกรมการพัฒนาชุมชน 3 ปี กว่าจะได้เข้าร่วมโครงการ ติดขัดอะไร หลังเข้าร่วมทำอะไรบ้าง ทีมงานได้พูดคุยกับ “พี่ผึ้ง” นางสาวชนาภา ชนัญชิดา  ตำบลวังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เจ้าของแปลงโคกหนองนา ขนาด 3 ไร่
        
“พี่ผึ้ง” บอกกับเราว่า  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผักปลอดสารพิษพี่ทำมานานแล้วน่าจะประมาณ 7 ปี พวกเรารวมตัวกันประมาณ 40 ครัวเรือนเป็นวิสาหกิจชุมชนทำผักปลอดสารพิษและแปรรูป มีบริษัทมารับถึงที่ ของทุกอย่างที่นี้ส่งออกไปทางยุโรป มาตรฐานสูงมาก  ราคาผักสมมติใช้สารเคมีจะตก กก.ละ 15 บาท หากปลอดสารพิษก็ได้ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม บริษัทอยู่ที่ อ. สามพราน จ.นครปฐม กลุ่มเราทำกับหลายหน่วยงานทั้ง ธ.ก.ส.,สวทช หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็เข้ามาสนับสนุน

“ทางกรมการพัฒนาชุมชนก็ทำด้วยกัน สมัครเข้าร่วมโคกหนองนา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว อนุมัติให้เข้าร่วมได้ประมาณ 1 ปี ก็รอจนเพิ่งได้ขุดสระ ตอนขุดก็เถียงกันนะ เพราะพื้นที่เรามีสระอยู่แล้ว เราต้องการแบบที่เราต้องการ ทาง พช.เขาก็มีแบบของเขา เราไม่เอา สุดท้ายทาง พช. ก็ยอมตามเราขอสระเดียว ตอนนี้ก็ขุดเรียบร้อยแล้ว เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกกล้วยเอาไว้  สาเหตุที่มันขุดช้า เพราะพื้นที่เรามันคาบเกี่ยวระหว่างพื้นที่ป่าไม้กับ สปก. ต้องสำรวจใช้เวลานาน   หากเป็นไปได้ตอนนี้อยากได้พันธุ์ปลามาปล่อยที่สระน้ำ” ซึ่งทาง นางสาวชนาภา ชนัญชิดา หรือพี่ผึ้ง ได้ฝากทิ้งท้ายไว้

การเดินทางสำรวจดูแปลงโคกหนองนาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีน้ำและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการค่อนข้างพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ บางรายต่อยอดจากสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้วอย่างเช่น ร.ต.อ.สุวิทย์ ราชสุภา และ น.ส.ภัทรา ฐิติเวชญาคุณ แม้นางสาวชนาภา ชนัญชิดา ก็เฉกเช่นเดียวกันเนื่องจากเป็นแกนนำของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำเรื่องผักปลอดสารพิษที่มีตลาดค่อนข้างชัดเจนและมั่นคง เรื่องผักปลอดสารพิษ นางสาวชนาภา ชนัญชิดา ฝากหัวใจสำคัญผู้ทำด้านนี้ ต้องมีความซื่อสัตย์และอดทนต่อสิ่งที่ตนเองทำ สุดท้ายประสบความสำเร็จทุกรายไป..

หน้าแรก » การเมือง