วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 19:11 น.

การเมือง

ปลัด มท.ขับเคลื่อน "โคก หนอง นา" สร้างสุขชาวน่านอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 19.35 น.

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะ ศอญ. ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ในพื้นที่จังหวัดน่าน เน้นย้ำเร่งประชาสัมพันธ์รับสมัครประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสุขให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 พ.ย.64) ที่ห้องประชุมพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดน่าน พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมประชุมติดตามฯ โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายชัยณรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พลตรี รุศมนตรี จิณเสน ที่ปรึกษา นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด หัวหน้าสำนักงานจังหวัดน่าน นายชำนาญ บุดาสา พัฒนาการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ผู้แทนศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กล่าวว่า เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เมื่อครั้งเดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563 ได้มีดำริเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดน่านด้านการพลิกฟื้นผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำน่านซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก และโครงการฮีโร่ฟื้นป่าน่าน และจังหวัดน่านได้น้อมนำเอาดำริดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัดน่าน ซึ่งในวันนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานว่าได้รับผลสำเร็จอย่างไร เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง และหากพบสภาพปัญหาในการขับเคลื่อน จะได้ช่วยหารือกันเพื่อหาทางออก ให้สามารถทำงานได้ แก้ไขได้  และยังสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วย

"ในการดำเนินการทั้งหลาย ต้องประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้เข้าใจให้ถ่องแท้ ถ้าประชาชนเข้าใจชัดเจนอย่างถ่องแท้ว่า ที่ดินที่เขาใช้ประโยชน์สามารถทำให้เกิดความชุ่มชื้น มีอาหาร มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้เกิดความร่วมมือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และจะได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลต่อไป"  พลตรี กัลย์สรรค์ กล่าวเน้นย้ำ

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หัวใจของการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" อยู่ที่ "คน" ดังนั้น จึงต้องพัฒนาคนให้มีความรู้และเข้าใจแก่นแท้ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่โคก หนอง นา โมเดล โดยการขุดดินในพื้นที่แปลงโคก หนอง นา นั้น เป็นการขุดตามสภาพภูมิสังคม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งเสริมสร้างความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ดินต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทั่วถึง และสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ทางภาครัฐดำเนินการขออนุญาตหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับอนุญาตในการดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่โคก หนอง นา โมเดล มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีความสุขตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และศาสตร์พระราชา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนนโยบาย  "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ซึ่งขณะนี้ยังมีพี่น้องประชาชนที่ด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงภาครัฐ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื่องจากที่ดินเป็นของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มีความจำเป็นพิเศษที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้มีองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่ ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ดังนั้น การขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ตามแนวพระราชดำริที่เราน้อมนำมาขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ พวกเราในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องอำนวยประโยชน์ช่วยพี่น้องประชาชนเหล่านั้นทำให้ถูกกฎหมาย เช่น ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่หน่วยงานราชการใด ก็ทำเรื่องขออนุญาตให้ถูกต้อง และหากเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหา ต้องรีบช่วยเหลือประชาชน 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ระดับต่าง ๆ ซึ่งเป็นการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน โดยจะมีทีมปฏิบัติการไปเคาะประตู Re x-ray ข้อมูลครัวเรือน อันจะเป็นโอกาสที่ได้ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงบริการของรัฐซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุปัญหาความยากจน อีกทางหนึ่งด้วย "ดังนั้น กลไกภาครัฐทั้งหมดต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความยั่งยืน"

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์" ซึ่งขับเคลื่อนโดยเรือนจำจังหวัด/อำเภอ ทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กำกับดูแลติดตามการดำเนินโครงการร่วมกับผู้บัญชาการเรือนจำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน นอกจากนี้ ขอให้มีทีมเข้าไปติดตามดูแลช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่กลับไปประกอบอาชีพในพื้นที่ โดยเฉพาะแปลงโคก หนอง นา ที่เขาทำเอง ต้องลงไปช่วยไปดู ไปให้กำลังใจเป็นพิเศษ  เพื่อพัฒนาเป็นวิทยากรต้นแบบให้กับผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษให้สามารถนำองค์ความรู้ตามโครงการที่พระราชทานลงมาประกอบอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

ในการประชุมครั้งนี้ นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งสิ้น 7.58 ล้านไร่ จำแนกเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย (ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์) 6.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 79.81 ของพื้นที่จังหวัด จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีประชาชนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า จำนวน 1.57 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้พื้นที่ป่าลดลง และกลายเป็นเขาหัวโล้น โดยจังหวัดน่านได้กำหนดเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยได้น้อมนำเอาแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินการ และกำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญของจังหวัด และมีวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนและขยายผลให้บรรลุเป้าหมาย จากนั้น หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอผลการดำเนินการ อาทิ โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่จังหวัดน่าน โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง กรมราชทัณฑ์" และโครงการปิดทองหลังพระ เป็นต้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่จังหวัดน่าน ให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานสังกัดกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และส่วนราชการอื่น ๆ จัดทำและประมวลข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งพื้นที่น้ำแล้ง พื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่จุดความร้อน (Hotspot) ที่เกิดจากไฟป่า ไฟทุ่ง ไฟเขา โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดปัญหาซ้ำซาก มาวางแผนขับเคลื่อนให้เป็นระบบ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" สามารถแก้ไขทุกปัญหาข้างต้นได้ จึงต้องระดมสรรพกำลังประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่มาแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยโลกของเราให้เป็นโลกที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า ทุกข์ของชาวบ้านเป็นทุกข์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ทรงงานในการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของพระบรมชนกนาถ ในการทรงมุ่งมั่นเพื่อแก้ปัญหาให้ราษฎร และวันนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ขับเคลื่อนงานมาในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การทำงานในบทบาท "จิตอาสา" นั้น เราต้องช่วยกันประมวลจัดทำข้อมูลว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งดินถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง โดยใช้ข้อมูลจากภัยที่เกิดขึ้นในอดีตมาจัดทำแผน และเชิญชวนประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่รักแผ่นดินนี้ มาช่วยกันและร่วมกันเป็นจิตอาสาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

"นายอำเภอทั้ง 15 อำเภอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีในท้องที่อำเภอ ต้องบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ เชิญชวน และรับสมัครประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจทุกคน ในทุกพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อร่วมกันสร้างความรู้ในการพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขในการใช้ชีวิตในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป" นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

หน้าแรก » การเมือง