วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:11 น.

การเมือง

ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ประเทศย้ำเจตนารมณ์สร้างความเป็นธรรมอาเซียน

วันอังคาร ที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 18.46 น.

ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ประเทศ แถลงย้ำเจตนารมณ์ SEAOF มุ่งมั่นสร้างความเป็นธรรมในอาเซียน 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 – ห้องประชุม 902 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน / นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะประธาน SEAOF พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวร่วมกับนายโมฮัมหมัด นาจิห์ (Mr. Mokhammad Najih) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และนางอาดอราซิยอน อาคูนา อักบาดา (Ms. Adoracion Acuna Agbada) ผู้ช่วยผู้ตรวจการแผ่นดินประจำเกาะลูซอน ผู้แทนผู้ตรวจการแผ่นดินสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ย้ำเจตนารมณ์ 3 ประเทศผู้ก่อตั้ง SEAOF มุ่งมั่นพัฒนาสร้างกลไกความเป็นธรรมแก่ประชาชนในอาเซียน เล็งขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพิ่ม

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินไทย กล่าวว่า เวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAOF (Southeast Asian Ombudsman Forum) เป็นเวทีพหุภาคีอิสระสำหรับความร่วมมือของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานร้องเรียนสาธารณะ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2563 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่ร่วมลงนามในบันทึกการแสดงเจตนารมณ์ (Memorandum of Intent (MOI)) โดยการประชุมหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAOF Retreat) ครั้งนี้ นับเป็นการประชุมหารือและพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศสมาชิก โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเนื้อหาของร่างข้อกำหนดแนบท้าย (TOR) บันทึกการแสดงเจตนารมณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและบูรณาการกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนระหว่างองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ตรวจการแผ่นดินในกระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีความซับซ้อนด้วยการบูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3) เพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

จากการประชุมหารือครั้งนี้ ส่งผลให้สมาชิก SEAOF เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนา การบูรณาการ และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนเชิงระบบขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศสมาชิก เกิดความร่วมมืออย่างยั่งยืนภายใต้กรอบความร่วมมือเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAOF โดยที่สมาชิก SEAOF ต่างให้ความสำคัญในการปฏิบัติภารกิจเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ดังนั้น จึงมีแนวคิดร่วมกันในการส่งเสริม/สนับสนุนการพัฒนากลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการหยิบยกกรณีศึกษาหรือการวิจัยในประเด็นที่มีผลกระทบต่อสาธารณะในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการบริหารจัดการภาครัฐโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ เป็นการประสานประโยชน์จากองค์กรสู่ประชาชน โดยเฉพาะประโยชน์สูงสุดของประชาชนภายในประเทศสมาชิก SEAOF

นอกจากนี้ SEAOF จะจัดการประชุมใหญ่อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยจะครบวาระการเป็นประธาน SEAOF และส่งมอบตำแหน่งประธานให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย อีกทั้งมีแนวทางจะขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม เป็น SEAOF+ โดยเชิญประเทศอื่นทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมภาคีด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันสมาชิกในการใช้สิทธิทางกฎหมายปกป้องคุ้มครองพลเมือง และร่วมกันพัฒนากลไกสร้างความเป็นธรรมและจัดการเรื่องร้องเรียนภายในเขตอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หน้าแรก » การเมือง