วันเสาร์ ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:52 น.

การเมือง

“อัยการสูงสุดหญิง” ชูหัวใจ 4 ด้านมุ่งสร้างความเชื่อมัน-ศรัทธาต่อประชาชน

วันพุธ ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 15.42 น.

“อัยการสูงสุดหญิงคนแรกประเทศไทย” แถลงนโยบายใหญ่ ชูหลักทำงาน 4 ด้าน “ยกระดับ–ปรับเปลี่ยน–วางรากฐาน–สานต่ออนาคต” มุ่งอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม ปลุกอัยการทั่วประเทศปรับตัวเปลี่ยนทันโลกสู่สังคมยุติธรรมที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่น-ศรัทธาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด คนที่ 17 ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดผู้หญิงคนแรกประเทศไทย แถลงนโยบายการบริหารงานหลังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ณ ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุดอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการสำนักงานในส่วนกลาง อธิบดีอัยการภาค ทั้ง 9 ภาค เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการเข้าร่วมรับฟัง โดยการแถลงนโยบายดังกล่าวยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน YouTube เพื่อให้ข้าราชการฝ่ายอัยการทั่วประเทศ ตลอดจนผู้สนใจได้ร่วมรับฟังอีกด้วย

นางสาวนารี กล่าวว่าการบริหารงานที่ได้แถลงในวันนี้ เป็นการนำองค์กรอัยการในฐานะหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปอย่างมีทิศทางโดยมีแนวคิด "ปรับฐานราก เปลี่ยนทันโลกสู่สังคมยุติธรรมที่ดีขึ้น : Better Justice" เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาความไว้วางใจให้กับประชาชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวไม่สามารถสร้างโดยลำพังได้เพียงจากการสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น แต่จะต้องสร้างจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพของข้าราชการทั้งที่เป็นพนักงานอัยการ พนักงานธุรการและผู้ปฏิบัติงานทุกคนในสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ประชาชนและสังคมได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง และสิ่งที่สำคัญ คือ คุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กรภายใต้คุณภาพชีวิตที่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่ดี

สำหรับนโยบายการบริหารงานที่จะใช้เป็นนโยบายหลักมี 4 ด้าน คือ “ยกระดับ–ปรับเปลี่ยน–วางรากฐาน – สานต่ออนาคต” คือ 1.ยกระดับการอำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย บนพื้นฐานของความร่วมมือและเทคโนโลยีอาทิการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลาผ่านเทคโนโลยีที่รองรับโดยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี (Application) ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบริการประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็วขึ้นรวมถึงการสร้างกระบวนการเชิงรุกในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันความเป็นไปของสังคมในมิติด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ทั้งในระหว่างหน่วยงานรัฐที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย และสร้างเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงการยกระดับการรักษาและพิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนด้วยความเป็นมืออาชีพและรวดเร็ว

2.ปรับเปลี่ยนและพัฒนางานขององค์กรอัยการ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และความหลากหลายทางสังคม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่พึ่งทางกฎหมายลำดับแรกให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาลดขั้นตอน และลดระยะเวลาในการดำเนินการ บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึงจัดให้มีอุปกรณ์เพื่อรองรับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานในทุกระดับชั้น เพื่อตอบสนองการสื่อสารกับทั้งภาครัฐและเอกชน

3.วางรากฐานเพื่อสร้างระบบและกลไกในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน วางระบบนิเวศองค์กร (eco-system) ที่เหมาะสมกับการทำงาน และสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทางวิชาชีพ อาทิ การวางรากฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้ในการทำงานและสามารถบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นระบบโดยสนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงระบบเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อเป็นการวางรากฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อประโยชน์หรือโอกาสในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมนอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความพร้อมของบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและสังคมรวมถึงวางรากฐานระบบนิเวศองค์กร (eco-system) ที่ส่งเสริมการทำงานของบุคลากรในสำนักงานอัยการสูงสุดทั้งในรูปแบบของปัจจัยในการทำงานและสวัสดิการที่มั่นคง

4.สานต่ออนาคต โดยสร้างกลไก เครื่องมือ และแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานการบริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่จะนำสำนักงานอัยการสูงสุดสู่การเป็นองค์กรของนักกฎหมายเพื่อสังคมและสร้างความยุติธรรมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน (Better Justice)อาทิ ผลักดันให้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรมและการทำงานของพนักงานอัยการเพื่อสร้างประสิทธิผลของความยุติธรรมพร้อมทั้ง ส่งเสริมและผลักดันระบบการสอบสวนคดีอาญาที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ภายหลังนางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด แถลงนโยบายการบริหารงานเสร็จสิ้นแล้ว คณะทีมงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดนำโดย นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้องด้วยรองโฆษกฯ 4 คน ประกอบด้วย นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) นายคถา สถลสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย นายทรงพล สุวรรณพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ ร่วมกันตอบข้อซักถามสื่อมวลชน

นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบคำถามถึงการทำคดีสำคัญของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจรัฐที่รับเรื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์มีการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง โดย โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่าการพิจารณาสำนวนคดีของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นไปตามกรอบกฎหมายอย่างเที่ยงธรรมและเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องคดีที่รับมาจาก ป.ป.ช.ที่อัยการสูงสุดต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีเจตนารมณ์สำคัญคือการพิทักษ์รักษาความสุจริตให้เกิดขึ้น โดยมีเงื่อนไขเรื่องกรอบระยะเวลาที่กำหนดให้ต้องดำเนินการไปตามกรอบเวลาเงื่อนไขของคดีนั้นๆ เป็นเรื่องบังคับต้องทำให้เสร็จสิ้น ไม่สามารถยื้อคดีได้ และสำนวนต่างๆต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดครบถ้วน อย่างไรก็ตามหากสำนวนคดีไหนมีหลักฐานไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าผิดกฎหมายอย่างหา ผิดมาตราไหน หรือขาดพยานหลักฐานชี้ผิดในเรื่องนั้นๆ อัยการก็ต้องแจ้งข้อที่ไม่สมบูรณ์ของสำนวน และแต่งตั้งอัยการไปประชุมร่วมกับป.ป.ช.เพื่อหาพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ และเมื่อฟ้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลปราบคดีอาญาทุจริตทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ศาลนี้เป็นระบบไตร่สวนที่ศาลต้องไปค้นหาความจริงด้วยตัวเองและพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งนี้หากเป็นคดีปกติทั่วๆไป หากอัยการหาพยานหลักฐานความผิดชัดเจนไม่ได้ หรือสำนวนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทางอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง แต่คดีของนักการเมืองต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

“อำนาจพิจารณาสำนวนคดีของนักการเมืองที่รับเรื่องมาจากป.ป.ช.ต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายกำหนด บ้างครั้งอัยการกับ ป.ป.ช.มีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น เรื่องอายุความ เรื่องหลักฐานยังไม่สมบูรณ์หรือหลักฐานไม่เพียงพอ หรือเรื่ององค์ประกอบไม่เข้าความผิด ก็ต้องส่งคืนให้ ป.ป.ช. ซึ่งทาง ป.ป.ช.อาจไปฟ้องเอง นอกจากนี้อัยการก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้องด้วย หากมีใครร้องขอความเป็นธรรมมาเราก็ต้องรับฟังและพิจารณา ยืนยันไม่ว่าประชาชนธรรมดา หรือนักการเมือง ทุกคนอยู่ภายในกฎหมายเดียวกัน ไม่มีใครได้เอกสิทธิ์พิเศษอย่างแน่นอน” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่างอย่างหนักแน่น

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง