การเมือง
แม่โจ้เบิกฤกษ์เปิดหลักสูตรใหม่ “วิทยาลัยป่าไม้แม่โจ้-แพร่” ผลิตบัณฑิต ป.ตรี-เอก
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เบอร์ 1 เบิกฤกษ์ เปิดหลักสูตรใหม่ “วิทยาลัยการป่าไม้แม่โจ้-แพร่” เร่งผลิตบัณฑิตปริญญาตรี โท เอก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านป่าไม้รับมือวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทั้งรักษาความเป็นอัตลักษณ์ป่าไม้แต่ละท้องถิ่น ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำสังคม หลังวุฒิสภาฯตอกเสาเข็มต้นแรกเป็นปฐมฤกษ์แล้วที่ จ.แพร่
หลังจากที่ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ขับเคลื่อนผลักดันให้มีการฟื้นคืนชีพ “โรงเรียนป้าไม้แพร่” เพื่อศึกษารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน รักษาความเป็นอัตลักษณ์ของป่าแต่ละพื้นที่ ตลอดจนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมเรื่องคนกับป่า จนนำไปสู่มีการบูรณาการความร่วมมือขององค์กรภาคีต่างๆ และประสบความสำเร็จช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือ “จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” ระหว่าง กรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ โดยมีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หอประชุมตรีเทพ โรงเรียนป่าไม้แพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่แล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 26 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ประกาศเรื่อง “โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแมโจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ” โดยระบุว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 4/2566 (สัญจร) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 มีมติให้มี “โครงการจัดตั้งวิทยาลัยการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างศักยภาพในการพัฒนาสู่ส่วนงานตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ.2560 โดยมีวัตถุประสงค์ 1.ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต และส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของแม่โจ้ เพื่อช่วยเหลือสังคมในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้ 2.สนับสนุนให้เกิดการศึกษา วิจัย สร้าง และพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ พัฒนาองค์ความรู้ด้านป่าไม้ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคม 3.ให้บริการวิชาการและความร่วมมือในระดับประเทศและนานาชาติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ให้สอดคล้องกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ โดยสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งสามปี นับตั้งแต่วันที่ถัดจากวันที่ออกประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2566 ลงนามโดย นายอำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้
ทั้งนี้ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ และเทรนด์ของโลกมุ่งไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ขณะที่ใกล้ตัวเราประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับผลกระทบเรื่องเอลนีโญ ลานีญา ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับป่าทั้งสิ้น ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ของประเทศไทยก็คือไม้สัก รองลงมาคือข้าวและดีบุก โดยโรงเรียนป่าไม้แพร่ก่อตั้งเป็นโรงเรียนสอนข้าราชการ เปิดทำการมา 36 ปี มีนักเรียนทั้งหมด 36 รุ่น และปิดตัวลงในปี 2536 การกลับมาของโรงเรียนป่าไม้แพร่ในชื่อ “สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่” เกิดจากประเด็นสำคัญคือการตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอีกประเด็นคือการสร้างความต่อเนื่องของโรงเรียนป่าไม้และส่งต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยการมีป่าไม้สมบูรณ์มีประโยชน์มากมายในด้านสิ่งแวดล้อมทั้งดินน้ำป่าอากาศ แต่ในอีกมิติหนึ่งเมื่อพื้นที่ป่าสมบูรณ์ป่ามีมาก ชาวบ้านยากจน ผกผันกันมีพื้นที่ป่ามากๆ สำหรับชุมชนสำหรับสังคมเป็นเรื่องดี แต่ชาวบ้านในพื้นที่ลำบากไม่สามารถไปต่อยอดเรื่องของวิถีชีวิตให้ดำรงอยู่คู่กันได้ ตัวอย่างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่า 85 % จัดว่ามากที่สุด มีพื้นที่ราบอยู่ 15 % ดังนั้นจึงไม่มีที่ทำกินทางการเกษตร ที่แพร่ก็เช่นเดียวกัน ป่าสมบูรณ์ประมาณ 70 % พื้นที่ที่ราบมีน้อย จังหวัดแพร่จึงจนเป็นอันดับสองของภาคเหนือ เป็นปัญหาที่มองไม่ค่อยเห็น เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป การมีพื้นที่ป่ามากขึ้นด้วยแนวคิดว่าต้องไม่ให้บุกรุกป่า ไม่ให้ไปอยู่ในป่า ทั้งที่จริงแล้วมีวิถีทางในการใช้ชีวิตร่วมกับป่าชุมชนได้ ซึ่งประเด็นนี้จะต้องคลี่คลายต่อยอดกันต่อไป
กรรมาธิการฯวุฒิสภา กล่าวด้วยว่าการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ เป็นการแก้ปัญหาด้วยแนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” ซึ่งมีกฎหมายให้ทำได้ จากพ.ร.บ. ป่าชุมชน เมื่อปี 2562 ที่ยอมให้คนอยู่กับป่า ได้ประโยชน์จากป่าได้ อาหารการกินเอามาจากป่าได้ การกลับมาของโรงเรียนป่าไม้ จึงไม่ได้เป็นการกลับมาแล้วสอนข้าราชการ แต่เป็นการแสวงหานวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน รวมถึงการดูแลป่าให้สมบูรณ์ไปด้วย โดยจะทำ 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือการสร้างเครือข่าย โดยการเซ็น MOU ที่ผ่านมานี้ ก็คือการสร้างเครือข่าย อันนี้เครือข่ายภาครัฐเริ่มก่อน และจะมีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชนเข้ามาสมทบ ต่อมาคือการทำงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยขณะนี้เริ่มที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และจะขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย
ส่วนเรื่องสุดท้ายคือถ่ายทอดเทคโนโลยีวิชาการในพื้นที่ เราต้องการหลักสูตรในพื้นที่เพื่อสร้างคน สร้างประชาชนที่อยู่กับป่า สมมติว่ามีป่าชุมชนขณะนี้ทั้งประเทศ 12,000 ป่าตามกฎหมาย ที่แพร่มี 300 กว่าป่า ในป่าชุมชนจะมีชาวบ้าน แกนนำชาวบ้านเป็นคณะกรรมการบริหารป่าชุมชน แห่งหนึ่งก็จะมีสัก 10-12 คน แต่นับตั้งแต่ปี 2562 มาเราไม่มีงานวิจัยด้านป่าชุมชนเลย ขณะนี้กำลังเริ่มทำ ถ้าทำสำเร็จเฉพาะที่แพร่ 300 ป่า ก็มี 3,000 คน และ 3,000 คนนี้จะไปเติมองค์ความรู้ได้จากโรงเรียนป่าไม้ที่สร้างขึ้นมา คนเหล่านี้ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปจะได้รับความรู้ผ่านการอบรมเรื่องอยู่กับป่าทำอย่างไร การบริหารจัดการป่าชุมชน อาหารจากป่า การท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีงานวิชาการมารองรับ
“แนวทางดำเนินการที่เริ่มทำไปแล้วตั้งแต่ตนเริ่มเป็น ส.ว.ใหม่ๆ คือเริ่มจากที่โรงเรียนป่าไม้มีคูเมืองเก่าแต่น้ำเน่าเสีย นายก อบจ.แพร่ ได้นำน้ำจากแม่น้ำยมให้ไหลเข้ามาแม่น้ำสาขา ล้อมรอบประตูเมือง และโรงเรียนป่าไม้อยู่ในส่วนหนึ่งของประตูเมือง ดังนั้นตอนนี้จึงกลายเป็นลำน้ำสวยงาม ต่อมาคือการปลูกป่าในเมือง ทยอยปลูกแล้ว โดยเฉพาะในโรงเรียนป่าไม้ และจะทำโรงเรียนป่าไม้ซึ่งมีพื้นที่ 40 กว่าไร่ในใจกลางเมืองให้เป็นปอดของเมือง และเป็นสถานที่สันทนาการ และสุดท้ายคือการปรับปรุงทำพิพิธภัณฑ์เรื่องป่าและการป่าไม้ โดยใช้อาคารโบราณอายุร้อยกว่าปีที่เอเชียทีคยกให้ ซี่งอยู่ระหว่างปรับปรุงโดยใช้งบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด”นายอภิชาติกล่าว
สมาชิกวุฒิสภา กล่าวด้วยว่าอีกด้านหนึ่งคือการทำวิจัยที่ป่าชุมชนที่บ้านบุญแจ่ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นหลักสูตรป่าชุมชนเพื่อจะมาบรรจุไว้ในการเรียนการสอน ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดสอนภายในสิ้นปีนี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น เรียน 7 วัน โดย 5 วันเรียนทฤษฎีที่โรงเรียนป่าไม้แพร่ และอีก 2 วันไปดูป่าชุมชนที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ก็คือป่าที่บ้านบุญแจ่ม ส่วนที่กำลังทำต่อคือการปรับแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้มาเน้นเรื่องป่าชุมชน เรื่องทรัพยากรเกี่ยวกับป่า ทบทวนการวางยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งท่านผู้ว่าฯแพร่ ท่านรับไป ส่วนทางกรมป่าไม้ก็กำลังทำข้อเสนอของบประมาณในปี 2567 เพื่อปรับปรุงโรงเรียนในส่วนจำเป็นบางเรื่อง เช่น ห้องแลป หรือศูนย์เพาะเนื้อเยื่อ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นการเรียนการสอน โดยการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เซ็น MOU ด้วยนั้น เพราะอยู่ในกระบวนการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจะเป็นการศึกษาหลักสูตรอุดมศึกษา จบแล้วรับปริญญาของราชภัฏอุตรดิตถ์ ภายในหนึ่งปีนี้เราจะเห็นการเคลื่อนไปข้างหน้าอีกไม่น้อย ซึ่งมาจากความร่วมมือและเป็นความต้องการของคนแพร่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สามารถต่อยอดด้วยการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นของพื้นที่ตนเองขยับขยายและต่อยอดไปได้อีกมากมาย โดยแต่ละจังหวัดสามารถทำได้อย่างแน่นอน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง
Top 5 ข่าวการเมือง ![]()
- "โสภณ" ลุยนาโพธิ์บุรีรัมย์ สานต่อยุทธการฟ้าสาง รวมพลังรักศรัทธา ต้านยาเสพติดแบบบูรณาการ 8 พ.ค. 2568
- มติบอร์ดแพทย์สภา เชือดหมอรักษา "ทักษิณ" ชั้น 14 ลุ้นศาลให้ "แม้ว" ไปต่างประเทศ 8 พ.ค. 2568
- มหาดไทย เปิดปฏิบัติการ "ZERO GUN" สั่งการชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองจับกุมอาวุธปืนเถื่อน 8 พ.ค. 2568
- ศาลเยาวชนฯ ราชบุรี มอบเงินสมทบจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ให้ รพ.ราชบุรี 8 พ.ค. 2568
- "พรรคประชาชน" ร่อนแถลงขอโทษ ปม สท.โดนจับ "คดีค้ายาเสพติด" 8 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดการเมือง ![]()
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬา "เทพกระษัตรีสัมพันธ์ ครั้งที่ 4" จังหวัดภูเก็ต 19:26 น.
- "ประเสริฐ" สั่งเดินหน้า "โคราชโมเดล" ขับเคลื่อน Learn to Earn ช่วย "เยาวชน" ทุกกลุ่มให้มีโอกาสศึกษา เสมอภาค 18:56 น.
- เสวนาเสรีภาพสื่อ "เสรีภาพสื่อ VS AI Surveillance : ผลกระทบ โอกาส และความท้าทาย" 18:46 น.
- "สมาคมนักข่าวฯ" จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ชี้สื่อไทยเสรี-สังคมอ่วมข่าวลวง 18:33 น.
- กสม.ออกแถลงการณ์ประณามผู้ไม่หวังดีกราดยิงกลุ่มเปราะบางตากใบเสียชีวิตและบาดเจ็บ ชี้ขัดกับทุกหลักศาสนา 17:56 น.