วันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 14:15 น.

การเมือง

 “หมอเปรม” ตั้งกระทู้ถามกลางสภาฯยกสารพัดปัญหาการถ่ายโอนรพ.สต. 9,827 แห่งมาอยู่ในสังกัด อบจ.ทำให้เกิดความโกลาหล

วันจันทร์ ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2567, 15.50 น.

 “หมอเปรม” ตั้งกระทู้ถามกลางสภาฯยกสารพัดปัญหาการถ่ายโอนรพ.สต. 9,827 แห่งมาอยู่ในสังกัด อบจ.ทำให้เกิดความโกลาหลทั้งคน เงิน และงานผู้รับบริการเดือดร้อนทั่วประเทศ พร้อมฝากถึงนายกรัฐมนตรีแพทองธารอย่าลอยแพประชาชน

วันที่ 23 กันยายน 2567  ในการประชุมวุฒิสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องนโยบายการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า  กระทู้นี้ตนตั้งใจจะถามนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ก็ไม่คาดคิดว่า จะประสบอุบัติเหตุทางการเมืองจนมาเปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่ตนก็ยังมุ่งมั่นถามเรื่องนี้ เพราะพี่น้องที่อยู่ รพ.สต.ต่างๆ ทั้ง 9,827 แห่งทั่วประเทศกำลังรอคอยคำตอบจากรัฐบาล แม้นายกฯ คุมคณะกรรมการกระจายอำนาจแต่ได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพสะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย มอบหมายให้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย มาตอบกระทู้แทนตนก็ไม่ขัดข้อง แต่ว่าบางข้อถ้า รมช.มหาดไทยตอบไม่ได้ก็ฝากคำถามไปถึง นายกฯด้วย เพราะมันเกี่ยวกับอำนาจของนายกฯ

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายถ่ายโอน รพ.สต.ชื่อเดิมคือสถานีอนามัยมาเปลี่ยนใหม่เป็นรพ.สต.ให้อยู่ใกล้ชิดประชาชน เดิมนั้น สังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้เปลี่ยนมาเป็นสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 แต่เพิ่งจะมาทำจริงจังปี 2564 การให้ รพ.สต.มาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนเป็นเรื่องดี แต่การปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มาก วันนี้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากผู้ให้บริการคือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ขาดขวัญกำลังใจและยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการถ่ายโอน การย้ายจากกระทรวงสาธารณสุขมาอยู่กระทรวงมหาดไทยคือ อบจ.ยังติดขัดข้อกฎหมาย การถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องคือ คน เงิน และงาน ดังนั้นจะขอถามทั้ง 3 ประเด็นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ข้อที่ 1 การโอนรพ.สต.เป็นการโอนภารกิจระบบปฐมภูมิคือคนเจ็บไข้ได้ป่วยสิ่งแรกนึกถึงก่อนคือสถานีอนามัยหรือนึกถึงหมออนามัยเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับตนเอง ภารกิจเดิมนั้นอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขงบประมาณพอเพียงในการดำเนินการ แต่เมื่อถ่ายโอนภารกิจสำนักงบประมาณซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่จัดสรรงบประมาณตามประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเพียงพอนั่นก็คือ งบเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากรตามโครงสร้างขนาดของรพ. สต.ซึ่งมี 3 ขนาด ขนาดใหญ่คือ L ขนาดกลางคือ M และขนาดเล็กคือ L  และเงินสนับสนุนตามประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ 

ทั้งนี้ 2.เหตุใดจึงไม่มีมาตรการในการคงมาตรฐานในการให้บริการระดับปฐมภูมิ ตามมาตรฐานคือ ประชาชนได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตามหลักทั้งเรื่องยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ แต่ว่าหลังจากถ่ายโอนไปแล้ว ข้อนี้ยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ ตนเคยเป็นหมอบ้านนอกมาก่อนอยู่โรงพยาบาลรู้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคเรื่องนี้เป็นอย่างดีวินิจฉัยโรคแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกยาและเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนได้ ตามที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วย สำหรับข้อที่ 3 ก็คือ จากประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บอกว่า หลังจากการถ่ายโอนภายใน 2 ปีจะต้องมีบุคลากรเพิ่มตามกรอบอัตรากำลังตามขนาด รพ. สต แต่ปัจจุบันบุคลากรยังมีไม่ถึง 50% ที่สำคัญก็คือยังไม่มีการบรรจุข้าราชการเพื่อจะมาทดแทนข้าราชการที่จะเกษียณ นี่ใกล้สิ้นปีงบประมาณวันที่ 30 กันยายนอีกไม่กี่วัน ยังไม่มีการประกาศอัตรามาทดแทนคตนเก่าที่จะเกษียณปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า พี่น้องหมออนามัยทั่วประเทศทั้ง 9,872 แห่งจะได้เข้าใจตรงกันแล้วปฏิบัติไม่ถูกว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร ปัญหาเหล่านี้ถ้ารมช.มหาดไทยตอบไม่ได้ก็บันทึกไปหาท่านนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะความจริงแล้วตนจะถามท่านนายกฯ คำถามก็คือจากการที่สำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณตามที่ประกาศไว้ในคณะกรรมการกระจายอำนาจได้ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์เงินอุดหนุนที่บอกว่า SML อยากจะถามว่า ใครเป็นคนตั้งคณะทำงานนี้และใช้อำนาจอะไรแต่งตั้งเพราะคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจเหนือคณะกรรมการกระจายอำนาจได้อย่างไร คณะกรรมการกระจายอำนาจใหญ่ที่สุดแล้ว ทำการแทนนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

สำหรับ ประเด็นที่บอกว่า ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ขอให้จริงอย่าปล่อยให้พี่น้องหมออนามัยฝันค้างหลอกประชาชนแบบนี้มานานแล้ว เพราะการทำงานทุกอย่างต้องใช้งบประมาณ ตอนนี้พี่น้องหมออนามัยถามเหมือนเพลงว่า “อยากเจอคนจริงใจมีไหมแถวนี้”  อีกประเด็นที่บอกว่าแพทย์ไม่ได้ถูกโอนไปด้วยเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีการแก้ไขด้วย เพราะหลังโอนมารพ.สต.แพทย์ก็ไม่ได้มาอยู่ด้วย ตามพ.ร.บ.ปฐมภูมิต้องมีแพทย์มาดูแลด้วย ตอนนี้ทางรัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมายหรือเปล่า เพราะว่า พ.ร.บปฐมภูมิมีสภาพบังคับและมีบทลงโทษด้วยถ้าหากทำไม่ได้ก็ต้องไปอ่านกฎหมายใหม่  และอีกคำถามหนึ่งทำอย่างไรให้อบจ.ไปซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ด้วยตัวเองเพื่อรักษาประชาชนได้ทันที 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกี่ยวกับสำนักงบประมาณ รมช.มหาดไทยไม่ได้คุมสำนักงบประมาณปัญหาตรงนี้คือ สำนักงบประมาณใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องกับความทุกข์ยาก ของประชาชน ขอให้สำนักงบประมาณได้ทำตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้อถิ่น โดยเฉพาะการบรรจุบุคลากรในโครงสร้างใหม่ให้เต็มพิกัด ไม่ใช่เสนอได้แค่ 80% ปัญหาเกี่ยวกับรพ.สต. ตนขอให้นายทรงศักดิ์ได้รายงานไปยังนายกรัฐมนตรีด้วยว่าจะแก้ไขอย่างไร วันนี้ประชาชนเสมือนหนึ่งถูกลอยแพ จึงขอฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลแพทองธารอย่าลอยแพประชาชน
 
 

หน้าแรก » การเมือง