วันพุธ ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 03:22 น.

การเมือง

“วราวุธ” กำชับ ทีมพม. รับมือมวลน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา

วันเสาร์ ที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2567, 19.27 น.

“วราวุธ” กำชับ ทีมพม. รับมือมวลน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา สั่ง 6 จว.ภาคกลาง สุพรรณบุรี  อยุธยา  นครปฐม ชัยนาท สมุทรปราการ กทม. เปิด ศูนย์พักพิงชั่วคราว ย้ำ โทรสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง 

 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567   ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภาคกลางในวันนี้ปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยมาอยู่ที่ 1,994 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอีกไม่นานจะปล่อยขึ้นไปจนถึงประมาณ 2,000 ไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำเต็มความจุที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ที่ประมาณ 2,700 ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เราเห็นว่าวันนี้น้ำที่ปล่อยผ่านจากเขื่อนเจ้าพระยานั้นจะกระทบกับสองฝั่งของเจ้าพระยาแน่นอน นอกจากนั้นทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาทางแม่น้ำท่าจีน หรือไปสู่แม่น้ำน้อย ปริมาณน้ำที่พยามจะผันออกไปยังทุ่งตะวันตกและทุ่งตะวันออกนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในแต่ละข้าง 

นายวราวุธ กล่าวว่า ดังนั้นปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาอยู่ทางพื้นที่ของที่ลุ่มภาคกลางจะเพิ่มปริมาณมาก และพี่น้องประชาชนจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ในส่วนของกระทรวง พม. เราได้เตรียมพื้นที่ พร้อมทั้งถุงยังชีพ ทีมงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่จะเข้าไปช่วยเยียวยา พูดคุยกับพี่น้องประชาชน และยังมีการเตรียมพื้นที่ของกระทรวง พม. จัดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวในการรองรับผู้ประสบภัย ใน 6 จังหวัดภาคกลาง จำนวน 17 แห่ง ดังนี้ 1. จังหวัดสุพรรณบุรี 3 แห่ง ได้แก่ 1)ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสุพรรณบุรี 2) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุพรรณบุรี และ 3) สำนักงานการเคหะจังหวัดสุพรรณบุรี 2. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ 4) การเคหะบ่อโพง 3. จังหวัดนครปฐม 4 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครปฐม 2) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครปฐม 3) สำนักงานเคหะสาขา 1 และ 4) สำนักงานเคหะสาขา 2 

4. จังหวัดชัยนาท 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดชัยนาท และ 2) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดชัยนาท 5. จังหวัดสมุทรปราการ 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสมุทรปราการ 2) ศูนย์พัฒนาศักยภาพและฝึกอาชีพคนพิการพระประแดง และ 3) สถานสงเคราะห์คนพิการพระประแดง และ 6. กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง ได้แก่ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ

นายวราวุธ กล่าวว่า  ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือมีศูนย์พักพิงชั่วคราว 8 จังหวัด 26 แห่ง ได้แก่ 1.จังหวัดเชียงราย 7 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย 2) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวจังหวัดเชียงราย 3) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย 4) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงราย 5) บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงราย (ริมกก) 6) บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงราย (แม่สาย 1) และ 7) บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงราย (แม่สาย 2) 2. จังหวัดเชียงใหม่ 8 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ (สันผีเสื้อ) 2) บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหอย) 3) บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหอย 2) 4) สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ 5) สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ 6) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ 7) ศูนย์พักพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน และ 8) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ 3. จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ 2) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน 4. จังหวัดลำพูน 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวจังหวัดลำพูน และ 2) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลำพูน 5. จังหวัดลำปาง 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ 6. จังหวัดพะเยา 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพะเยา และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพะเยา 7. จังหวัดน่าน 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดน่าน และ 2) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน  และ 8. จังหวัดแพร่ 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแพร่ และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดแพร่

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 20 แห่ง ได้แก่ 1. จังหวัดหนองคาย 3 แห่ง ได้แก่  1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดหนองคาย 2) สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดหนองคาย และ 3) นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย 2. จังหวัดเลย 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเลย และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเลย 3. มุกดาหาร 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมุกดาหาร และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดมุกดาหาร 4. จังหวัดบึงกาฬ 2 แห่ง ได้แก่1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดบึงกาฬ 5. จังหวัดอุบลราชธานี 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านศรีวนาไล และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดอุบลราชธานี 6. จังหวัดนครพนม 3 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครพนม 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม และ3) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม 7. จังหวัดขอนแก่น 3 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น 2) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภาจังหวัดขอนแก่น และ 3) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น และ 8. จังหวัดอุดรธานี 3 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ 2) นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง และ 3) สถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดอุดรธานี

นายวราวุธ กล่าวว่า หากประชาชนผู้ประสบภัยมีความประสงค์ที่จะมาใช้พื้นที่ของกระทรวง พม. เรายินดีให้บริการซึ่งสถานที่เรามีความปลอดภัยมีทั้งที่อยู่ที่พักอาศัยและห้องน้ำเตรียมบริการ 24 ชั่วโมง หากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ขอให้โทรติดต่อมาที่ สายด่วน พม. โทร. 1300 ของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน  (ศรส.) กระทรวง พม. เราพร้อมส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเครื่องที่เร็วลงพื้นที่ช่วยเหลือโดยด่วน 

นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่ปิงสูงขึ้นมากอย่างไม่เคยเจอมาก่อนสะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ธรรมชาติกำลังเคาะประตูพวกเรามนุษยชาติอย่างเต็มที่แล้ว มาช่วยกันเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวเชียงใหม่และเชียงรายฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน พวกเรากระทรวง พม. จะคอยทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการประสานงานช่วยสนับสนุนและเยียวยาพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่
 
 

หน้าแรก » การเมือง