วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:43 น.

การเมือง

 “ดร.เฉลิมชัย” เปิดศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย เผยสถิติธรณีพิบัติภัยรอบปี 67 พร้อมแผนติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงกว่า 600 สถานีทั่วประเทศ

วันอังคาร ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2568, 17.28 น.

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568    เวลา 13.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและนิทรรศการ โดยมี นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการ รมว.ทส. นายนริศ ขำนุรักษ์ คณะทำงาน รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ เข้าร่วมงาน โอกาสนี้ นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีและคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี

ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากข้อมูลเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในรอบปี 2567 พบว่า ประเทศไทยเผชิญเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย รวม 1,112 เหตุการณ์ แบ่งเป็น แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 160 เหตุการณ์ แผ่นดินไหว 947 เหตุการณ์ และ             หลุมยุบรวม 5 เหตุการณ์  จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินถล่มระดับสูงมากถึงปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่ 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล 15,559 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่เสี่ยงรวม 142,067 ตารางกิโลเมตร (84.8 ล้านไร่) หรือประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทยไปใช้ประกอบการเตรียมความพร้อม ป้องกัน เฝ้าระวังและเตือนภัยในพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

ทั้งนี้ รมว.ทส. ได้ให้นโยบายด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง แจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และมอบหมายกรมทรัพยากรธรณีให้ดำเนินการลดผลกระทบธรณีพิบัติต่อประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาข้อมูลและแนวทางมาตรการให้มีความครบถ้วน พัฒนาระบบการเฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม และเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีให้มีความพร้อมรับมือ และพัฒนาแบบจำลองการเตือนภัยและศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณีให้มีความพร้อม

แผนการดำเนินงานในปี 2568 กรมทรัพยากรธรณีจะเร่งติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดินเพิ่มอีกกว่า 140 สถานี ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม ในจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนติดตั้งรวม 600 สถานีทั่วประเทศ   พร้อมเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือและลดความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ รมว.ทส. มอบหมายให้ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยระดับประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายท้องถิ่น เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

สำหรับแผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทยครอบคลุม 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล และหนังสือคู่มือลดผลกระทบธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม 2567 สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ แผนที่เสี่ยงภัย 54 จังหวัดhttps://gisportal.dmr.go.th/portal/apps/MapSeries/index.html?appid=927a0f2c42f44c40ab6cb03109682ebf  คู่มือลดผลกระทบธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม 2567 https://online.fliphtml5.com/zwkvd/ofpg/
 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง