วันอังคาร ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:32 น.

การเมือง

"นายกฯอิ๊งค์"  เชื่อไม่น่ามีงูเห่า ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันพุธ ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568, 09.49 น.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 มี.ค. 68 ที่อาคารรัฐสภา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมประชุมสภาในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งวันเดียวกันนี้เป็นการลงมติญัตติไม่ไว้วางใจ โดยนายกฯมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า "สดชื่นดีค่ะ" เมื่อถามอีกว่า เห็นว่าจะมีงูเห่ามาโหวตให้นายกฯ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า "ไม่น่ามีนะ" 

ย้ำความเป็นอิสระในการทำงานทุกนโยบายคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก  

ทั้งนี้เวลา 21.15 น. วันที่ 25 มีนาคม 2568  ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร นางสาวแพทองธาร  เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ กรณีฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตลอดระยะเวลาสองวันของการอภิปรายคิดว่าทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สิ่งที่กระทบกระทั่งก็ถือว่าเป็นปกติ และน่าจะทำงานร่วมกันต่อไปได้
 
ในเรื่องของภาวะผู้นำและการถูกครอบงำ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไม่อยากให้ใครพูดแบบนี้ ส่วนตัวเคารพและให้เกียรติผู้นำฝ่ายค้านและไม่เคยรู้สึกเช่นนั้น ไม่เคยพูดหรือสงสัย ทั้งสองฝ่ายมีอายุใกล้กัน เส้นทางทางการเมืองก็มีความคล้ายกัน คงจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด การด้อยค่าคนอื่นไม่ควรทำ ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะนำข้อแนะนำมาใช้พิจารณา เพราะว่าเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และถูกยอมรับในวงกว้าง ทั้งในและต่างประเทศ และถ้าเป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ดี 
 
ส่วนประเด็นอุยกูร์ ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายของผู้ลี้ภัย เมื่อมีการลักลอบเข้าเมืองก็ถูกดำเนินคดีตามขั้นตอน โดยยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแม่ได้ขอรับตัว และทวงถาม ขณะที่ประเทศที่สามยังไม่เคยมีการมาทวงถาม หรือขออย่างเป็นทางการ โดยได้ติดต่อกับจีนเรียกร้องและให้รับประกันถึงความปลอดภัยอย่างจริงจังเป็นหนังสือ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นถือว่าเป็นพันธสัญญาต่อสังคมโลก จึงมีส่งกลับ โดยคณะของรอง นรม. ภูมิธรรมได้เดินทางไปติดตาม ทุกคนปลอดภัย นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าคือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย และที่สำคัญ ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีรับฟัง แต่สิ่งที่คิดเป็นอันดับแรก คือ คนไทยต้องการอะไร และอะไรดีที่สุดสำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเคารพทุกความคิดเห็น โดยต้องใช้เวลา ใช้การอธิบายจะทำให้ทุกประเทศเข้าใจ พร้อมขอให้มองในมิติของโลก 
 
ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน และลงสัตยาบันร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และเมื่อเป็นรัฐบาล ได้แถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภา มีจุดยืนในการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ยุ่งกับหมวด 1 และ 2 แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้การแก้ไขทำได้ยาก มีข้อเห็นต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภา ทั้งในเรื่องกฎหมายการทำประชามติและจำนวนครั้งในการทำประชามติ แต่รัฐบาลยังพยายามเดินไปข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีแสดงภาวะผู้นำอยู่ตลอด โดยไม่ต้องเรียกร้อง มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลตลอดในทุก ๆ นโยบายที่ต้องหารือกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างให้ชัดเจน จนล่าสุด พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยไม่เข้าร่วมการประชุมก็ลงมติเห็นชอบร่วมกันนำเรื่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้ว่าจะช้าไปบ้าง ไม่ทันใจ แต่ก็เป็นโอกาสชัดเจนแห่งความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมเป็นพิเศษ เวลา 10.00 น. เพื่อลงมติว่าจะไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร  ตามญัตติของพรรคฝ่ายค้านที่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หลังจากที่เมื่อวันที่ 24-25 มี.ค. นั้นการอภิปรายในรายละเอียดนั้นเสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ในการลงมติดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสี่ ระบุว่า มติไม่ไว้วางใจต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึงของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ ซึ่งล่าสุดนั้นสำนักการประชุมสภาฯ ได้แจ้งยอดสส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ รวม 493 คน ดังนั้นการลงมติไม่ไว้วางใจต้องได้คะแนน 248 คะแนนขึ้นไป สำหรับการลงคะแนนนั้นจะใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผยผ่านการกดบัตรออกเสียงลงคะแนน.

สำหรับรายละเอียดของสส.แต่ละพรรค แบ่งเป็นสส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 พรรค จำนวน 171 คน แบ่งเป็น พรรคประชาชน 143 คน พรรคพลังประชารัฐ 20 คน พรรคไทยสร้างไทย 6 คน พรรคเป็นธรรม 1 คน และพรรคไทยก้าวหน้า 1 คน

ขณะที่สส.พรรคร่วมรัฐบาล จาก 11 พรรค มียอดรวม 322 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 142 คน พรรคภูมิใจไทย 69 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน พรรคกล้าธรรม 24 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน พรรคประชาชาติ 9 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคไทรวมพลัง 2 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และ พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน

"โพล" เทคะแนนให้"แพทองธาร" ผ่านศึกซักฟอก  
  
ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2568 ได้ทำการสำรวจประชาชนทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 1,500 คน เรื่องการ "อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2568" ในช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.68 ที่ผ่านมา โดยความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ "ฝ่ายค้าน" นำเสนอมานั้นผู้ให้สำรวจให้ความเห็นว่า น่าเชื่อถือมาก 20.5% ค่อนข้างน่าเชื่อถือ 21.7% ค่อนข้างไม่น่าเชื่อถือ 35.3% และไม่น่าเชื่อถือเลย 22.5%

ขณะเดียวกันได้ถามผู้สำรวจถึง "ความเชื่อมั่น" ของประชาชนต่อรัฐบาล หลังจากผ่านอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง ได้ผลสรุปว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น 25.7% และมีความเชื่อมั่นระดับเดิม 59.7% แต่มีความเชื่อมั่นลดลงเพียง 14.6%

ทั้งนี้ได้สอบถามผู้สำรวจถึงประเด็น ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ "ฝ่ายรัฐบาล" นำเสนอเพื่อตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านอยู่ในระดับใด ซึ่งประชาชนผู้ให้สำรวจลงความเห็นว่า มีความน่าเชื่อถือรวม 56.4% แบ่งเป็น น่าเชื่อถือมาก 30.1% และ ค่อนข้างน่าเชื่อถือ 26.3% ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนมองว่า ค่อนข้างไม่น่าเชื่อถือ 27.4% และที่เหลือให้ความเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือเลย 16.2%

สิ่งที่ประชาชนอยากให้นักการเมืองมีการปรับปรุงใน "การอภิปราย" ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเรียงจาก อยากให้ต้องการปรับปรุงมากสุด ไปจนถึงอยากให้ปรับปรุงน้อยสุด ได้แก่ การแสดงข้อมูลหลักฐานที่ไม่ชัดเจน 20.7% พฤติกรรมการแสดงออกไม่เหมาะสม 17.4% เนื้อหาการอภิปรายไม่ตรงประเด็น 15.4% การยียวนกวน 12.3% ความรุนแรงของการใช้ภาษา 12.2% การอภิปรายไม่กระชับวกวน 11.9% การกล่าวหาให้ร้ายบุคคลภายนอก 5.3% และอื่นๆ 4.8%

นอกจากนี้ได้ให้ประชาชนร่วมกันให้คะแนน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร "นายกรัฐมนตรี" จากการอภิปรายในครั้งนี้ จาก 1-10 คะแนน โดยผู้ให้สำรวจ ให้คะแนนดังนี้ 1 คะแนน 6.8% , 2 คะแนน 9.7% , 3 คะแนน 9.3% , 4 คะแนน 8.9% , 5 คะแนน 14.5% , 6 คะแนน 15.4% , 7คะแนน 13.8%, 8คะแนน 8.7% , 9 คะแนน 7.7% , 10 คะแนน 5.2%
 

หน้าแรก » การเมือง