วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:06 น.

การเมือง

"ปลอดประสพ" จี้เร่งสังคายนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568, 11.03 น.

เมื่อวันที่ 30   มีนาคม 2568   ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมประมง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า ต้องเร่งสังคายนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
     
คงเป็นเพราะเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ศภช.)คนแรกเมื่อ 20ปีที่แล้ว  จึงทำให้ผมได้รับsms เตือนภัยในกลุ่มแรกๆ เพราะชื่อผมยังคงค้างอยู่ในระบบเดิม วันนี้ขอไล่time linesแผ่นดินไหวที่เข้ามาถึงผม ซึ่งก็คงจะก่อนคนอื่นๆในประเทศเกือบจะทั้งหมดมั้ง
1. เวลา 13.20น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด7.7( 8.2 )ริกเตอร์ในประเทศเมียนมาร์บริเวณ 21.682 แลตติจูดเหนือ และ96.121 ลองติจูดตะวันออก 
2. เวลา 14.14น. กรมอุตุนิยมวิทยา(กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว) ได้ออกประกาศแผ่นดินไหวทั่วประเทศไทยและยังได้ออกหนังสือย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลา 15.18น. 
3. เวลา 15.16น. (เวลาเดียวกับกรมอุตุฯ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกประกาศและมีคำสั่งให้ทุกจังหวัด อำเภอ ตรวจสอบความเสียหายจากแผ่นดินไหว แต่ก็น่าประหลาดมากที่ในเอกสารนี้ระบุว่า“ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความรู้สึกสั่นไหว”
4. บ้านผมอยู่นนทบุรี รู้สึกแผ่นดินไหว จึงวิ่งออกไปที่สระน้ำและถ่ายรูปน้ำกระฉอกเมื่อเวลา 13.26น. นั่นก็หมายความว่าคลื่นความไหวใช้เวลา  6 นาที วิ่งจากเมืองมัณทะเลย์ มาถึงนนทบุรี และเมื่อเวลา 13.41น. คืออีก 15 นาทีต่อมา ผมก็ได้กระจายข่าวไปในทุกไลน์ที่ผมมีอยู่ ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวข้องกับคนประมาณ 1000 คน

5. เวลา 13.45น. ในฐานะที่ปรึกษา ผมจึงได้โทรศัพท์ไปหาท่านรองนายกภูมิธรรม เพื่อแจ้งข้อมูลและให้ความเห็นทางวิชาการเท่าที่ผมมี ขณะที่พูดไปได้ครึ่งหนึ่ง ท่านรองภูมิธรรมบอกว่า“ ท่านนายกฯโทรเข้ามาครับพี่” ผมจึงขออนุโลมว่า ท่านนายกฯ รับทราบเรื่องแผ่นดินไหวและได้เริ่มสั่งการทันทีแล้ว เพราะจากนั้นเป็นต้นไปท่านนายกฯก็ได้เรียกประชุมอีกหลายครั้ง
     
ในความเห็นผม การที่ท่านนายกฯ ได้รับทราบเหตุการณ์หลังเกิดเหตุในประเทศเมียนมาร์โดยใช้เพียง 25 นาที และได้เริ่มสั่งการโดยทันทีนั้น ถือว่าเร็วมาก โดยเฉพาะเร็วกว่าปภ.ถึง 1.30ชม. ในฐานะคนทำงานทางด้านนี้ ผมถือว่า มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว
     
ถ้าจะให้ผมวิจารณ์ว่า ทำไมการประกาศสถานการณ์แผ่นดินไหวจึงล่าช้า สับสน และในบางครั้งขาดสาระสำคัญ ซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้ถามเรื่องนี้ในที่ประชุมที่ภูเก็ตเช่นกัน ผมคงเป็นคนที่รู้เรื่องนี้มากที่สุดคนหนึ่ง แถมเมื่อเร็วๆนี้ยังเคยเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องให้เร่งปรับปรุงไว้แล้วด้วย กล่าวคือ แต่เดิมศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี มีผมซึ่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเป็นผู้อำนวยการ หากมีอะไรเกิดขึ้น ผมสามารถรายงานตรงกับท่านนายกฯ ได้โดยทันที (ท่านอดีตนายกฯทักษิณ) และที่ศภช. ยังมีห้องออกอากาศทางทีวีและวิทยุเตรียมพร้อม ซึ่งผมสามารถตัดสัญญาณระบบการสื่อสารทั้งวิทยุและทีวีทั่วประเทศได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ทำให้สามารถประกาศและอธิบายสถานการณ์ตลอดจนให้คำแนะนำกับประชาชนได้ทันทีและทั่วถึงทั้งประเทศ
     
หลังจากเปลี่ยนรัฐบาล ศภช. ถูกย้ายไปสังกัดกรมอุตุฯและมีฐานะเป็นเพียงสำนักหนึ่งของกรมเท่านั้น ซึ่งก็แปลว่า หากมีอะไรเกิดขึ้น ศภช. ก็ต้องรายงานตามขั้นตอนจากผอ. ไปยังอธิบดี ไปปลัดกระทรวง รัฐมนตรีจนมาถึงนายกรัฐมนตรี ก็คิดดูเองว่า มันคงใช้เวลานานมาก ยิ่งกว่านั้น ในสมัยนายกประยุทธ์ ศภช. ย้ายมาสังกัดปภ. ซึ่งไม่มีTechnical backup อะไรเลย จึงทำให้การสื่อสารยิ่งยาวไปกว่าเดิมและผู้บริหารก็ไม่มีback ground ทางด้านธรณีวิทยาหรือแผ่นดินไหวเลย มันจึงเกิดคำประกาศตามที่ท่านนายกฯได้เปรยในที่ประชุมว่า“ เกิดประโยชน์อะไร” 
     
วันนี้ผมไม่อยากเขียนยาวมาก เอาว่า ผมจะเขียนในโอกาสต่อไปก็แล้วกัน วันนี้ขอพูดสั้นๆแต่เพียงว่า ถึงเวลาสังคายนาระบบเตือนภัยพิบัติของชาติได้แล้วครับ(อุทกภัย ไฟป่าหมอกควัน รังสี แผ่นดินไหว และสึนามิ)
 

หน้าแรก » การเมือง