วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:01 น.

การเมือง

แถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภา 2568 "การรายงานข่าวในโลกใหม่อันท้าทาย: ผลกระทบของ AI ต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน"

วันเสาร์ ที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.31 น.

ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2568 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยืนหยัดสนับสนุนบทบาทของสื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน เป็นกระจกสะท้อนสังคม และอาจจะพูดได้ว่า เป็นเสาหลักของประชาธิปไตยอีกด้วย จึงขอใช้โอกาสนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ 

ปีนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้กำหนดหัวข้อหลักในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2568 ไว้ว่า “Reporting in the Brave New World: The Impact of Artificial Intelligence on Press Freedom and the Media” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความท้าทายครั้งใหม่ของวงการสื่อมวลชนในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาททั้งในด้านการผลิตเนื้อหา การกระจายข่าวสาร และการควบคุมข้อมูลในวงกว้าง

เป็นที่ทราบกันดีว่า AI เปรียบเหมือน "ดาบสองคม" สำหรับเสรีภาพของสื่อมวลชน เพราะมีทั้งศักยภาพในการส่งเสริมและในขณะเดียวกันก็สามารถคุกคามเสรีภาพดังกล่าวได้ หากไม่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ด้านที่ส่งเสริมเสรีภาพของสื่อ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้เร็วขึ้นเพื่อสังเคราะห์ประเด็นที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตข่าว ด้วยการช่วยเขียนข่าวอัตโนมัติหรือสรุปข่าวจากแหล่งต่างๆ  อีกทั้งยังช่วยให้สำนักข่าวขนาดเล็กสามารถดำเนินงานได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง 

แต่ในด้านการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนนั้น AI ถูกกลุ่มผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการเซ็นเซอร์ หรือควบคุมข้อมูลของรัฐหรือองค์กรบางแห่งอาจใช้ AI ตรวจสอบการเผยแพร่เนื้อหา และทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน รวมถึงอาจทำให้บทบาทของนักข่าวลดลง เนื่องจาก องค์กรสื่อมวลชนขนาดใหญ่อาจจำเป็นต้องลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนบุคลากร ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องประสบปัญหาจากการเลิกจ้าง โดยใช้ AI เข้ามาทำหน้าที่แทน

ดังนั้น การกำกับดูแลการใช้ AI อย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการพัฒนา AI เพื่อใช้ในการผลิตเนื้อหาของสื่อมวลชนอย่างมีจริยธรรม จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นปัจจัยหลักในการรักษาเสรีภาพสื่อมวลชนให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอร่วมยืนยันหลักการ 5 ประการที่ยูเนสโกเสนอ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน ได้แก่:

คุ้มครองเสรีภาพของสื่อในยุคดิจิทัล เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลและการรายงานข้อเท็จจริง
กำกับดูแลการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ป้องกันการนำ AI มาใช้สร้างข่าวปลอมหรือควบคุมเนื้อหาที่เบี่ยงเบนจากความจริง
ส่งเสริมความโปร่งใสของแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการเปิดเผยวิธีการทำงานของอัลกอริธึมที่มีผลต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน
สนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารในยุค AI เพื่อให้ประชาชนสามารถแยกแยะข้อมูลที่เชื่อถือได้จากเนื้อหาที่บิดเบือน
ปกป้องความปลอดภัยของนักข่าวในโลกออนไลน์ จากการคุกคาม สอดแนม หรือถูกทำร้ายในรูปแบบดิจิทัล
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอยกย่องสนับสนุน นักข่าวและสื่อมวลชนทุกคน ที่ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ ซื่อตรง และยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพ พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันปกป้องการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมีเสรีภาพบนพื้นฐานของหลักวิชาชีพสื่อมวลชนในยุคที่เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

เพราะเสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน และคือเงื่อนไขสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  3 พฤษภาคม 2568
 

หน้าแรก » การเมือง