วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:54 น.

การเมือง

"สมาคมนักข่าวฯ" จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ชี้สื่อไทยเสรี-สังคมอ่วมข่าวลวง 

วันเสาร์ ที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 18.33 น.

"สมาคมนักข่าวฯ" จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 68 "อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ" ชี้สื่อไทยมีเสรีภาพมาก ขณะที่ สังคมไทยอ่วม "ข่าวลือ" ไร้ข้อเท็จจริง นักข่าวต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ-ตระหนักรู้ ย้ำสื่อทุกประเภทต้องหาดุลยภาพระหว่างความอยู่รอดกับมาตรฐานคุณภาพ หวังสื่อไทยรายงานแบบบรูณาการมากยิ่งขึ้น มองภาพรวมเสนอทางออกของปัญหา มากกว่าเน้นความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2568 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2568 โดย น.ส. น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวเปิดงานว่า วันที่ 3 พ.ค.ของทุกปีองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ประกาศให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อให้เราทุกคนได้ร่วมกันตระหนักและให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีเสรีภาพซึ่งไม่เพียงแต่เป็นหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่เปิดกว้างและดีขึ้นจากทำงานของพวกเรา สถานการณ์เสรีภาพในปัจจุบันยังเต็มไปด้วยความท้าทายต่อการทำงานของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงกดดันจากอำนาจต่างๆ ทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น การถูกคุกคาม ข่าวปลอม ข่าวลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปการทำงานของสื่อ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีผลต่อแวดวงสื่อมวลชนอย่างไร เป็นสิ่งที่จะได้ร่วมกันหาคำตอบร่วมกันในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังและการทำหน้าที่ของพวกเราทุกคน

ขณะที่นายกวี จงกิจถาวร ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2568 ตอนหนึ่งว่า วันนี้เราจะพูดคุยกันเรื่องสื่อไทยในบริบทโลก ซึ่งองค์กรสื่อไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยไว้ที่อันดับ 87 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ถือว่าไม่เลว และดีมากเป็นปีที่ดีที่สุดก็ว่าได้ ขณะที่ในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน ตนจัดอันดับโดยไม่ยึดถือของฝรั่ง ดัชนีสื่อเสรีในอาเซียนที่มีเสรีภาพมาก ๆ คือฟิลิปปินส์ มีเสรีภาพมากคือไทย อินโดนีเซีย มีเสรีภาพพอสมควรคือมาเลเซีย มีเสรีภาพน้อยคือสิงคโปร์ บูรไน มีเสรีภาพน้อยกว่าคือ เวียดนาม ลาว ซึ่งเสรีภาพตามความรู้สึกนึกคิดของแต่ละภูมิภาคต่างกัน นี่คือสภาพความเป็นจริง

นายกวี กล่าวต่อว่า นักข่าวเป็นอาชีพที่อันตรายที่สุด แต่ประเทศไทย นักข่าวเป็นอาชีพที่มีสิทธิพิเศษมากที่สุด ประเทศที่มีนักข่าวถูกสังหารมากที่สุด ตามข้อมูล RSF และ CPJ รวมกัน 1,180 คน ในช่วงปี 2005-2025 ได้แก่ อิรัก ซีเรีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ยังไม่นับฉนวนกาซ่าที่ตายไปแล้ว 211 คน ซึ่งตนจัดฟิลิปปินส์ให้เป็นสีแดง เพราะในบริบทโลก นักข่าวฟิลิปปินส์มีชื่อเสียงมาก เพราะในบางพื้นที่ทำข่าวสืบสวนพูดเสร็จ เปิดประตูออกมาถูกยิงตายทันที นี่คือภัยอันตรายของนักข่าวในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเรา และมีเหตุการณ์สำคัญคือในปี 2005 เป็นประเทศเดียวที่มีการฆ่าหมู่นักข่าวคนเดียว 31 คน ซึ่งเป็นการไปทำข่าวเจ้าพ่อในเมืองหนึ่ง แล้วฝ่ายตรงข้ามจ้างมือปืนมากราดยิง ดังนั้นในบริบทโลกของไทยถือว่าโชคดีมาก นอกจากนั้นที่อันตรายมากคือเม็กซิโก บางคนอาจมองว่าฉนวนกาซาหรืออิรักที่อันตรายสำหรับนักข่าวแต่นั่นเป็นภาวะสงคราม แต่ประเทศที่อันตรายที่สุดในยามที่บ้านเมืองสงบที่สุดคือเม็กซิโกเพราะนักข่าวถูกฆาตกรรมจำนวนมากเป็นรายวัน โดยเฉพาะการทำข่าวยาเสพติด

นายกวี กล่าวอีกว่า สำหรับระบบของดัชนีนักข่าวกับระบบการลอยนวล ประเทศไทยมีชนักติดหลัง เพราะมี 5 กรณีที่ยังไม่ได้สะสาง คดียังอยู่ที่ศาล คือกรณีนักข่าวต่างประเทศ 2 คน นักข่าวญี่ปุ่น และอิตาลี ที่เสียชีวิตในไทยช่วงการชุมนุมปี 2553 และนักข่าวไทย 3 คน ที่มีคดีอยู่ในชั้นศาล ซึ่งจากกรณีที่มีเหตุนักข่าวถูกฆาตกรรมจำนวนมาก สมาชิกยูเอ็นทุกปีจึงต้องส่งรายงานคืบหน้าเกี่ยวกับทุกกรณีที่นักข่าวถูกฆาตกรรมถือเป็นพันธกิจ แต่ประเทศไทยปลอดภัยมาก ยกเว้นช่วงที่มีการปฏิวัติ สำหรับไทยตนเป็นคนเสนอรายงานในยูเนสโกเอง โดยทั้งโลกมีประมาณทั้งหมดกว่า 1,000 คดี เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีความคืบหน้า

นายกวี กล่าวว่า ส่วนกรณีคนไทยกับข่าวและข้อเท็จจริง ตนถูกถามว่าประเทศไทยมีข่าวปลอมหรือไม่ ตนมักจะบอกว่าไม่มี คนไทยมีแต่ข่าวลือ เพราะข่าวปลอมต้องมีโครงสร้างเป็นส่วนประกอบ แต่ไทยมีข่าวลือหรือเรื่องตอแหลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุก 24 ชม. ก่อนจะหมดและหายไป แต่ในต่างประเทศเวลามีข่าวปลอมหรือข่าวโกหก โครงสร้างข่าวปลอมเขาเข้มข้น มีหน่วยงานที่สามารถรองรับข่าวปลอมได้ตลอด แต่ประเทศไทยไม่มีเรื่องนี้ ถูกจับได้ว่าตอแหลก็ต้องเปลี่ยนเรื่องแล้ว ดังนั้นประเทศไทยเราอยู่ในวัฒนธรรมที่เรียกว่าข่าวลือ ไม่ใช่ข่าวปลอม เพราะอาจมีการใส่สีตีไข่ ซึ่งเรามีรายการข่าวในชื่อลักษณะนี้ อีกหน่อยก็คงมีใส่ไข่ ใส่สี ในการรายงาน สมัยก่อนมีข่าวที่แบ่งแยกจากกันชัดเจน เขาเรียกว่า ข่าวบันเทิง ข่าวการเมือง ตอนนี้กลายเป็นว่าการเมืองบันเทิง หรือบันเทิงการเมือง หรือเถิดเถิงการเมือง คือตอนนี้มันสับสนไปหมดไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นการรายงานข่าวมันจึงต้องมีความแม่นยำ

“ประเด็นที่ผมอยากเน้นคือ คือประเทศไทยเป็นสังคมที่มีข้อมูลท่วมท้นเยอะเกินไป และไม่มีใครช่วยกรองข่าว แต่รับไว้หมดแล้ว ทำให้เกิดความสับสน จับต้นขนชนปลายไม่ถูก แล้วผสมผสานมโนข้อมูลกับข้อเท็จจริงเลยกลายเป็นความจริง ดังนั้นเราเป็นนักข่าวต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง นี่คือสิ่งที่นักข่าวเราจำเป็นต้องตระหนักรู้ และขอย้ำว่าข่าวแต่ละข่าวมีความต่อเนื่องกัน และเคยเกิดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมาก่อน จึงเป็นหน้าที่ของนักข่าวในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและต้องมีการพิสูจน์ทราบ”

สำหรับอนาคตสื่อไทยสู่ระดับสากล คิดว่าสื่อไทยต้องสร้างมาตรฐานสากลในการรายงานข่าวทั้งในและนอกประเทศ สื่อไทยทุกประเภทจำเป็นต้องหาดุลยภาพระหว่างความอยู่รอดกับมาตรฐานคุณภาพ ทุกสื่อทุกแพลตฟอร์มต้องมีเครื่องมือเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาให้ได้โดยเร็ว ส่วนคุณสมบัตินักข่าวยุค AI ซึ่งนักข่าวต้องปฏิบัติรวมทั้งตนด้วย คือ ก่อนอื่นจะต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและคนอ่าน แสวงหาข้อเท็จจริงทุกรูปแบบ สามารถอ้างอิงข้อเท็จจริงที่เคยรายงานและกล้าแก้ไข ทำข่าวเชิงข้อมูล (Data journalism) ใช้ AI ช่วยรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ แต่อย่าให้ AI สิงร่างเราซึ่งเป็นเรืองที่อันตรายมาก

“ต้องมีการรายงานข่าวที่เสนอทางออกไม่เน้นเฉพาะแต่ความขัดแย้ง รู้เรื่องปรัชญาชาวบ้านรวมทั้งการตลาด และการเมืองประชานิยม ศึกษารากเหง้าประวัติศาสตร์ไทยและภูมิรัฐศาสตร์เพื่อนบ้าน และโลก รู้สึกกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ ตลอดจนเข้าใจประเด็นข้ามประเทศ ห่วงโซ่อุปทาน ภาษีตอบโต้ คาร์บอนเทรดดิ้ง เซมิคอนดักเตอร์ สงครามข่าวสาร บทบาทยูเอ็นและองค์กรระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย การสูญเสียพืชพันธุ์และบรรยากาศ หลักการค้าเสรี เป็นต้น พูดง่ายๆ คือรู้ประเด็นร้อนทั่วไปและเจาะลึกบางเรื่อง หวังว่าพี่ๆ น้องๆ จะรายงานข่าวแบบบูรณาการมากยิ่งขึ้น”นายกวีกล่าว
 

หน้าแรก » การเมือง