วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 17:22 น.

การเมือง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" ชู G-Token ทางเลือกใหม่แก้โจทย์กู้เงินรัฐ รับมือดอลลาร์อ่อน-หนี้สหรัฐพุ่ง

วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 16.36 น.

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  มอง "G-Token" คือการปฏิวัติพันธบัตรผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ตอบโจทย์การระดมทุนภาครัฐยุคใหม่ เพิ่มโปร่งใส ลดต้นทุน รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาในดอลลาร์สหรัฐ  

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาถูกปรับลดอันดับเครดิตจากระดับสูงสุด Aaa ลงมาที่ Aa1 โดย มูดี้ห์ คาดว่า ต้นทุนทางการเงินและการกู้เงินของสหรัฐอเมริกาทั้งรัฐและเอกชนจะเพิ่มมากขึ้น และ อันดับเครดิตและความน่าเชื่อถือจะยังไม่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่มีจำนวนมหาศาลและการทำงบประมาณขาดดุลจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

การขาดดุลงบประมาณจำนวนมากเป็นผลมาจากมาตรการการลดหย่อนภาษีให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนของรัฐบาลทรัมป์ มีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีการปฏิรูปภาคการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะให้ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐฯอาจขึ้นแตะระดับ 135% ภายใน 10 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะในระดับดังกล่าวจะทำให้ "พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ" และ "เงินดอลลาร์" สูญเสียความน่าเชื่อถือลงได้

สิ่งนี้จะทำให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในระยะยาว บทบาทในฐานะของเงินสกุลหลักของระบบการเงินโลกอาจเปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯต้องเร่งปฏิรูประบบการคลัง แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและการก่อหนี้มากเกินไปให้ได้

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า G-Token เป็นทางเลือกการกู้เงินภาครัฐและการลงทุนของประชาชนแต่ไม่ใช่เงิน ไม่ได้สร้างปริมาณเงินขึ้นมาใหม่ จึงไม่น่าจะผิด พรบ. เงินตรา เป็นเพียงพันธบัตรรัฐบาลในรูปโทเคนดิจิทัล G-Token เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารการคลัง เป็นเครื่องมือในการระดมทุน กู้เงินของรัฐบาล เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีสามารถลงทุนและออมเงินผ่านเครื่องมือดังกล่าวได้ G-Token จึงไม่ใช่ เงินตรา (Currency) หรือ ไม่ใช่ Cryptocurrency สินทรัพย์ทางการเงินเพื่อการลงทุนหรือการเก็งกำไร

ขณะเดียวกัน ก็ต่างจาก Utility Token ที่ให้สิทธิผู้ถือในการได้รับบริการหรือสิทธิอื่นที่เฉพาะเจาะจง การออกพันธบัตรในรูปโทเคนดิจิทัล จะช่วยลดต้นทุนการระดมทุนในระยะยาว เพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง สามารถลงทุนขั้นต่ำเท่าไหร่ก็ได้ มีความโปร่งใสมากขึ้นในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยกระทรวงการคลังต้องเตรียมเงินสำหรับจ่ายเงินต้นดอกเบี้ยไว้เต็มจำนวน เป็น Fully backed นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ต้องตรวจสอบให้รอบคอบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องเปิดช่องให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร และควรเร่งแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ปี พ.ศ. 2535 ที่จะรองรับธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ที่ครอบคลุมมากกว่าเดิมไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ระบบและกระบวนการในการออกและทำธุรกรรม G-Token ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยและมีเสถียรภาพเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นเอกสาร (Physical Certificate)

นอกจากนี้ G-Token เป็น นวัตกรรมทางการเงิน เป็นของใหม่ อาจเกิดความเสี่ยงของสภาพคล่องในตลาดรองได้ หากไม่มีการซื้อขายมากพอเนื่องจากเป็นของใหม่ นักลงทุนอาจไม่คุ้นเคย ฉะนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการและกลไกในการเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับความเสี่ยงนี้ด้วยในโครงการนำร่องระยะแรก

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มีแนวโน้มของการทำให้เกิด Tokenization ในหลายประเทศ ผลของ การทำ Tokenization ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดว่าเราควรจะมีแนวทาง Tokenization อย่างไร

พัฒนาการนี้ย่อมจะเกิดขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจมีการเคลื่อนตัวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นตามลำดับ เศรษฐกิจดิจิทัลเองก็มีทั้งโอกาส ความเสี่ยงและความวิตกกังวลในอนาคตที่มีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนกระทั่งมีผลต่อการปรับตัวของกิจการ มีผลต่อระบบการเงิน และระบบการลงทุน การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภค การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม

การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่างๆโดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่างๆได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆนโยบายและการบริหารจัดการอย่างไร ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง

การ Tokenized Economy จะต้องมีกระบวนการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ รวมถึงสินทรัพย์การลงทุนอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้สามารถครอบครองความเป็นเจ้าของผ่านโทเคนดิจิทัลและสามารถที่จะซื้อขายหรือโอนให้กันผ่านบล็อกเชนได้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน

และเศรษฐกิจลงอย่างมาก การทำธุรกรรมหลายอย่างไม่ต้องผ่านคนกลาง โดยเฉพาะต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศจะลดลงมากที่สุด มีการประเมินว่า Generative AI จะเข้ามามีบทบาทในระบบการลงทุน ตลาดการลงทุนและตลาดการเงินมากขึ้น จะเกิดผลงานสร้างสรรค์ขึ้นมากมายจาก Generative AI

ผลงานจำนวนไม่น้อยที่สร้างสรรค์โดย Generative AI ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยแรงงานมนุษย์ หรือ หากใช้แรงงานมนุษย์ต้องใช้เวลานานมาก มีการประเมินเบื้องต้นว่า GEN AI สามารถเพิ่ม GDP ทั่วโลกได้ 7% (เกือบ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) และเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้านี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานด้วย โดยประมาณสองในสามของอาชีพในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการทำงานอัตโนมัติในระดับหนึ่งโดย AI แม้ว่าระบบอัตโนมัติอาจแทนที่ภาระงานบางส่วนในบางอาชีพ แต่แนวโน้มในอดีตบ่งชี้ว่างานใหม่มักจะถูกสร้างขึ้น ซึ่งชดเชยผลกระทบได้  

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง