วันอังคาร ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:13 น.

การเมือง

ไทยมีรัฐประหารเฉลี่ยทุก 7 ปี!  "สุวิทย์" ชี้ปฏิรูปประเทศคือคำตอบ หยุดวงจรรัฐประหาร

วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.29 น.

การเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกองทัพที่ไม่โปร่งใส คือปัจจัยให้รัฐประหารเกิดซ้ำ “The Second Great Reform” จึงเป็นคำตอบในการพาประเทศพ้นวิกฤต

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee” ระบุว่า เร่งปฏิรูปประเทศ ลดโอกาสรัฐประหาร

นับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่ผสมผสานระหว่างการรัฐประหารและการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองหลายครั้ง  

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปรวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ในขณะที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดในโลก

~รัฐประหารทุก 7 ปี เลือกตั้งทุก 3.4 ปี

หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างรัฐประหารกับการเลือกตั้ง จะพบว่า ประเทศไทยมีรัฐประหาร 13 ครั้ง คิดเป็นเฉลี่ยทุก 7 ปี ในขณะที่มีการเลือกตั้งทั่วไป 27 ครั้ง คิดเป็นเฉลี่ยทุก 3.4 ปี

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งมากกว่ารัฐประหาร แต่หลายครั้งการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร หรือภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยและความชอบธรรมของการเลือกตั้ง

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพ และมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองบ่อยครั้ง การรัฐประหารและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสลับกันไปมา สะท้อนถึงความท้าทายในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน

 ~ ความจำเป็นที่จะต้องมี “การปฏิรูปประเทศครั้งที่ 2” (The Second Great Reform)

ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องทำสงครามต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำสงครามต่อสู้กับปัญหาความยากจน ตลอดจนทำสงครามต่อสู้กับความไม่สงบภายในประเทศ 

ในทศวรรษจากนี้ไป ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จนทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันได้แก่ 

– สงครามต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส หรือความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน  

– สงครามต่อสู้กับภัยคุกคามไม่ตามแบบในปัจจุบัน อาทิโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ สงครามไซเบอร์ รวมถึงการครอบงำโดยประเทศมหาอำนาจในรูปแบบใหม่

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัย อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการ “ปฏิรูปทั้งประเทศ” ที่นำไปสู่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศเพียงครั้งเดียว นั่นคือการปฏิรูปประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 นับเป็น “The First Great Reform” ซึ่งเป็นผลมาจากภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ประกอบกับวิสัยทัศน์และพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้บ้านเมืองเกิดความเป็นปึกแผ่น เกิดการสร้างรัฐชาติไทยที่เข้มแข็ง มีการเลิกทาส การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการนำเทคโนโลยี วิทยาการ และการบริหารจัดการที่นำสมัยจากต่างประเทศ มาประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย

อาจกล่าวได้ว่า กระบวนทัศน์การพัฒนาที่อยู่เบื้องหลัง “The First Great Reform” คือ “การพัฒนาที่มุ่งสู่ความทันสมัย” เพื่อเร่งให้รัฐชาติไทยก้าวทันประเทศที่พัฒนาแล้วในประชาคมโลก 

ต่างจากในยุคปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเผชิญกับแรงปะทะสองแนว ทั้ง “แรงกดดันจากภายนอก” อาทิ ระบบทุนนิยมโลก การจัดระเบียบโลกใหม่ ภัยคุกคามไม่ตามแบบ รวมถึงลัทธิล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ และ “แรงประทุจากภายใน” อาทิ ความขัดแย้งที่รุนแรง คอร์รัปชั่นที่ดาษดื่น ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ปัญหาชุมชนและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตลอดจนปัญหาคุณค่าและวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นที่ถูกกลืนโดยระบบอุปถัมภ์ - อำนาจนิยม - อภิสิทธิ์ชน และ วัตถุนิยม - บริโภคนิยม - สุขนิยม

การจะพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามปัญหาวิกฤตและภัยคุกคามต่างๆเหล่านี้ จำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิด “The Second Great Reform” ซึ่งมีกระบวนทัศน์การพัฒนาที่แตกต่างจาก “The First Great Reform” อย่างสิ้นเชิง จากการพัฒนาที่ “มุ่งสู่ความทันสมัย” (Modernism) ไปสู่การพัฒนาที่ “มุ่งสู่ความยั่งยืน” (Sustainism) เพื่อนำพาประโยชน์สุข ความเป็นปกติสุข และสันติสุข มาสู่ประเทศไทยและประชาคมโลก

~เร่งปฏิรูปประเทศ ลดโอกาสรัฐประหาร

ในการลดโอกาสการเกิดรัฐประหารในประเทศไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ไม่พอเพียง  เงื่อนไขที่พอเพียง คือ การปฏิรูปเชิงระบบให้สามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม ที่ “ลึกพอ”  ใน 5 มิติสำคัญ

 1. โครงสร้างอำนาจเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง: มีกลไกถ่วงดุลอำนาจอย่างเข้มแข็ง เช่น สื่อมวลชนที่เป็นอิสระ ตุลาการที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ต้องทำให้กองทัพเป็น “สถาบัน” ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง เพราะถ้าอำนาจของกองทัพยัง “แฝงอยู่ในรัฐ” หรือรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทหารมีบทบาททางการเมือง รัฐประหารก็ยังจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่สำคัญ คือ รัฐบาลพลเรือนจะต้องเป็น “รัฐบาลที่น่าเชื่อถือ” (Credible Government) กล่าวคือ เป็นรัฐบาลที่มาด้วยความชอบธรรม (Legitimacy)  มีคุณธรรมจริยธรรม (Integrity) และมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ (Capability)  การขาดตกบกพร่องในความเป็นรัฐบาลที่น่าเชื่อถือ จะเป็นเหตุผลสำคัญในการก่อรัฐประหารได้

2. ระบบการเมืองมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองประชาชน: หากการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา มีความชอบธรรม ประชาชนเชื่อมั่น จะลดข้ออ้างในการทำรัฐประหารที่ว่า “นักการเมืองโกง” 

นักการเมืองและพรรคการเมืองเอง ต้องเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มทุนหรือกลุ่มอภิสิทธิ์ชน เพราะหากนักการเมืองถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ระบอบประชาธิปไตยจะอ่อนแอ อาจเปิดทางให้ทหารอ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจได้

3. วัฒนธรรมประชาธิปไตยฝังรากในสังคม: สังคมต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลาย ความคิดเห็นที่แตกต่าง และใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา 

พร้อมๆกันนั้น ต้องลดทอนอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ - อำนาจนิยม - อภิสิทธิ์ชน ที่ทำให้ผู้คนยอมรับการทำรัฐประหาร เพราะถ้าประชาชนยังเชื่อว่า รัฐประหารเป็นทางออกเวลาประเทศเกิดวิกฤติ รัฐประหารก็จะยังมีอยู่ต่อไป

4. การปฏิรูปกองทัพ:  ต้องเปลี่ยนโครงสร้างภายในกองทัพ จาก “เครือข่ายอำนาจ” เป็น “ระบบราชการมืออาชีพ” ที่เป็นกลางทางการเมือง
  
ที่สำคัญ งบประมาณและกำลังพลของกองทัพ ต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส มิเช่นนั้น สภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ก็จะยังดำรงอยู่

5. การสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็ง: ประชาชนต้องมีพื้นที่ในการรวมตัว เคลื่อนไหว แสดงออก โดยไม่ถูกคุกคาม มีระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนที่ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์

หากประชาสังคมอ่อนแอ การตรวจสอบอำนาจจะทำไม่ได้ ย่อมเปิดทางให้รัฐประหารเกิดได้ง่าย

ดังนั้น การผลักดันการปฏิรูปเชิงระบบ ทั้ง 5 มิติให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ จะทำให้รัฐประหารไม่เพียงเป็นสิ่ง “ไม่จำเป็น” แต่จะกลายเป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถเกิดขึ้นได้” ทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม และโครงสร้างอำนาจ

ฐากรากสำคัญของการปฏิรูปเชิงระบบทั้ง 5 มิติดังกล่าว คือ การปฎิรูปการศึกษาที่เน้นการเปลี่ยน “ระบบคุณค่า - ปรับระบบความคิด” (ดูโพสท์ก่อนหน้า: ถ้าอยากเปลี่ยนประเทศไทยทั้งระบบ ต้องเริ่มจากระบบที่เปลี่ยนคน) และการปฏิรูปเชิงระบบทั้ง 5 มิติ จะเป็นระบบนิเวศที่สนับสนุน (Enabling Ecosystem) การปฏิรูปในด้านอื่นๆ อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูประบบราชการ ฯลฯ ให้ประสบผลสัมฤทธิ์ในที่สุด
 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง