วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:51 น.

การเมือง

 ‘ประเสริฐ’ กำชับเร่งเดินหน้า ‘โครงการในกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า’ หวังส่งต่อมรดกวัฒนธรรม  

วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 15.24 น.

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568  นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ 1. บัญชีรายชื่ออาคารที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์ใน กรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 121 อาคาร เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเครื่องมือทางการเงิน ด้านมาตรการส่งเสริมด้านภาษี (tax incentive) , 2. การปรับปรุงสะพานระพีพัฒนภาคและสะพานบพิตรพิมุข บริเวณคลองโอ่งอ่าง โดยการปรับปรุงยกระดับท้องสะพานสูงขึ้นเป็น +2.00 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ , 3. โครงการจัดตั้งหอเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์กฎหมายไทย พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุยกกระบัตร โดยปรับปรุงอาคารสำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารหลักเมือง) ให้เหมาะสมแก่การเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมและพื้นที่สาธารณะใหม่ของเมือง

4. การออกแบบทางขึ้น - ลง สถานีรถไฟฟ้าและปล่องระบายอากาศ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาเษก) สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า และสัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า - สะพานพุทธ ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์  โดยคำนึงถึงคุณค่าความสำคัญประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาเป็นแนวคิดหลักการออกแบบ ที่รักษารูปแบบและอัตลักษณ์ของพื้นที่ และ 5. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยพิจารณาในส่วนสถานีรถไฟฟ้า ทางขึ้น - ลง และปล่องระบายอากาศ ที่ขอเปลี่ยนแปลง บริเวณสถานีศิริราช สถานีสนามหลวง และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเห็นชอบตำแหน่งทางขึ้น - ลง และปล่องระบายอากาศบริเวณสถานีหลานหลวง 
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำชับขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ผลกระทบต่อการจราจร และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อาจมีผลกระทบต่อโบราณสถาน ตลอดจนดำเนินการตามแนวทางลดผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถาน และหลักฐานทางโบราณคดี และรายงานผลการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งออกแบบและสื่อความหมายให้สอดคล้องกับบริบทและคำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เร่งให้มีการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยผลักดันให้มีแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า และการทบทวนแผนปฏิบัติการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเมือง รวมทั้ง เห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง (เมืองเก่าพิษณุโลก เมืองเก่าสกลนคร เมืองเก่าแม่ฮ่องสอน เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าบุรีรัมย์ และเมืองเก่าตรัง)

 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง