วันเสาร์ ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 04:12 น.

การเมือง

"ภูมิธรรม" เปิดการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 22 ภายใต้หัวข้อ "ยุติธรรมกินได้" 

วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 14.27 น.

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 22 ย้ำ ความยุติธรรมต้องช่วยเยียวยาประชาชน ไม่ใช่การตีตราหรือซ้ำเติม และต้องไม่ยืนอยู่เหนือประชาชน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568    นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 22 ภายใต้หัวข้อ “ยุติธรรมกินได้” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 23 พฤษภาคม 2568 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมทั้ง เป็นเวทีนำเสนอแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุติธรรมกินได้กับนโยบายรัฐบาล" ย้ำถึงการให้ความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนจับต้องได้ และใช้ในการขับเคลื่อนชีวิต ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจาก ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นนามธรรม แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตและปากท้องของประชาชน ความยุติธรรมที่กินได้ คือ ความยุติธรรมที่ประชาชนเข้าถึงได้จริง สัมผัสได้จริง ซึ่งความยุติธรรมที่ประชาชนสามารถพึ่งพาได้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาล ความยุติธรรมไม่ควรอยู่แค่ในคำปราศรัย หรือหน้ากระดาษแต่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นความมั่นใจในชีวิตของประชาชน เป็นหลักยึดของบุคคลที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความเหลื่อมล้ำ ช่วยสร้างโอกาส เป็นพื้นฐานให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตในทุกมิติ เป็นความยุติธรรมที่ช่วยเยียวยา ไม่ใช่ตีตราหรือซ้ำเติม เป็นความยุติธรรมที่ยืนเคียงข้างประชาชน ไม่ใช่ยืนอยู่เหนือประชาชน

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายที่ให้ความยุติธรรมปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิต ปัจจุบันความท้าทายของประเทศไทย คือ ความมั่นคงและปลอดภัยของสังคม ซึ่งถูกคุกคามจากภัยหลายด้าน ทั้งภัยจากยาเสพติด ภัยธรรมชาติ ภัยจากไซเบอร์ ความยุติธรรมที่กินได้ จึงเป็นความยุติธรรมที่ต้องทำให้กฎหมายต่าง ๆ มีความเท่าเทียม และปฏิบัติได้อย่างจริงจัง กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การแปลความ และการนำกฎหมายมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องดึงพลังชุมชน พลังของประชาชน เข้ามามีส่วนด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือโอกาส หากได้รับโอกาส ก็จะทำให้ศักยภาพและพลังที่ประชาชนมีอยู่ ช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในสังคม

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น การเข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ การสมรสเท่าเทียม ที่แสดงให้เห็นการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละคน ซึ่งได้รับคำชื่นชม เนื่องจาก เป็นสิ่งที่หลายประเทศบนโลกนี้ยังไปไม่ถึง ถือว่าระบบคิดของไทยก้าวไปไกลมาก ทั้งนี้ ยังมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ระบบยุติธรรมที่ดี จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก นักลงทุนต้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน และการยึดถือหลักธรรมาภิบาล คือ หลักนิติธรรม ควบคู่กับหลักนิติรัฐ โดยต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง