วันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 15:58 น.

การเมือง

ไทยผู้นำพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอาเซียน

วันเสาร์ ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559, 07.47 น.

ไทยผู้นำพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอาเซียน

 

ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ( UN Climate Change Confidence in Marrakech, Morocco (COP22) ณ เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อกโก ระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งได้เชิญ รัฐมนตรีและผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านโลกร้อนในหลายประเทศมาแสดงวิสัยทัศน์ อาทิ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย รมต.ต่างประเทศด้านพาณิชย์และพัฒนาความร่วมมือ เนเธอร์แลนด์ ผู้แทนประเทศไทย รวมถึงผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อรายงานความคืบหน้า เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนา ขจัดความยากจน และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ในการประชุมครั้งนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ถือเป็นผู้หญิงไทยคนเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้รับเชิญให้ไปพูดบนเวทีนี้ ในหัวข้อ Momentum for Change : Women for Results Event บทบาทของสตรีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

           

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ แสดงวิสัยทัศน์ว่าในฐานะผู้บุกเบิกและพัฒนา โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 พบว่าขณะนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้รัฐบาลไทยในยุคต่อๆ มา รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันส่งเสริมการนำระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มาเป็นหนึ่งในระบบไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานของประเทศ และยังสามารถช่วยสร้างงาน และช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี 
           

ทั้งนี้ ยังได้ขยายโอกาสทางธุรกิจ ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้มีผู้ประกอบการเอกชนเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก มีเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท มีการจ้างงานอีกจำนวนมหาศาล จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้หญิงไทยไม่เพียงมีสถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกับผู้ชายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังมีสถานะที่เหนือกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในบ้าน
           

“ขอเชิญชวนให้ผู้หญิงทั่วโลกได้ช่วยกันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้โลกของเราดีขึ้นในทุกๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องโลกร้อน และด้านสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ถ้าให้เกิดความยั่งยืน รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องมีนโยบายช่วยชี้นำสังคมที่ชัดเจน เหมือนในเยอรมัน หรือประเทศต่างๆ ในยุโรป ผู้หญิงถือเป็นแกนหลักต้องช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อคนรุ่นต่อไปจะได้มีความสุขกับสิ่งแวดล้อมที่ดี” ดร.วันดีกล่าว

         

อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลก เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญต่อทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอจึงเป็นภาระที่สำคัญของรัฐบาลของทุกประเทศต้องวางแผนในการดำเนินงานอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศโดยตรง

 

ขณะที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างมาก ด้วยภูมิประเทศที่อยู่ในเส้นศูนย์สูตร ทำให้ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าเขตอื่นๆ ของโลก ซึ่งพบว่าพื้นที่ของประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ มีความเข้มรังสีแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีดีมาก ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์

         

จากศักยภาพดังกล่าว ทางภาครัฐจึงได้พยายามส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการสนับสนุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน เช่น การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ การสนับสนุนการกู้ยืมเงินทุนและเงินหมุนเวียนผ่านสถาบันการเงิน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเอกชนให้ความสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากจนเกินกว่าเป้าหมาย นำมาซึ่งความมั่นคงพลังงานของชาติ และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชนบท ที่สำคัญพลังงานแสงอาทิตย์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ไม่น้อยเช่นกัน

 

 

หน้าแรก » การเมือง