วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 00:47 น.

ภูมิภาค

วิถีชีวิตคนกับป่า...เทือกเขาผีปันน้ำ

วันอังคาร ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561, 14.01 น.

วิถีชีวิตคนกับป่า...เทือกเขาผีปันน้ำ

 

ปัญหาคนบุกรุกป่า เป็นปัญหาที่พบเห็นเสมอ มีทั้งบุกรุกแผ้วถางตัดต้นไม้ เพื่อปลูกพืชผลหรือทำไร่เลื่อนลอย สำหรับสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยนั้น  เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤต  พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2504  ที่เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1  พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลืออยู่ราว 170 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 53 % ของพื้นที่ประเทศจนมาถึงปี พ.ศ.2538  พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลืออยู่ประมาณ 82 ล้านไร่ มาถึงปัจจุบัน  บางคนระบุว่าป่าไม้ของประเทศไทยเหลืออยู่จริงๆ ไม่ถึง 20 % ด้วยซ้ำไป

 

 

แม้ว่ารัฐบาลจะได้หามาตรการช่วยรักษาพื้นที่ป่าไม้ โดยในปี พ.ศ.2532  รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าบกทั้งหมดหรือที่เรียกกันว่า "ปิดป่า"  แต่จากสถิติของการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ทั้งก่อนและหลังมีการประกาศยกเลิกสัมปทานป่าพบว่าไม่ได้แตกต่างกันเลย

 

จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้มีการใช้ทรัพยากรประเภทต่าง ๆโดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ในอัตราที่สูงมาก  แต่ทว่าเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ  ส่งผลให้สภาพป่าไม้ของประเทศไทยเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ  ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพพื้นที่ที่มีสภาพทางระบบนิเวศที่สมบูรณ์เหลืออยู่ไม่มากนัก  ส่วนใหญ่จะอยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่ได้ทำการประกาศก่อนยกเลิกสัมปทานป่าไม้ป่าไม้ส่วนใหญ่ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ไม่สมบูรณ์เหมือนสมัยก่อน

 

 

ทั้งนี้โดยพิจารณาจากจำนวน และขนาดของต้นไม้  รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าที่ลดลงไปมากด้วย ปัจจุบันหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามที่จะแก้ปัญหาคนบุกรุกป่า และสามารถกำหนดมาตรการที่จะทำให้”คน”หรือชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับ”ป่า”ได้ โดยอาศัยหลักการเกื้อกูลตามระบบการจัดการที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและผืนป่า คนกับป่าจึงจะสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างสมดุล และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 

ย้อนไปเมื่อปี 2539มีการประกาศพื้นที่ป่าคลุมเทือกเขาผีปันน้ำ เพื่อสงวนไว้ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร โดยประกาศจัดตั้งให้อุทยานแห่งชาติขุนแจ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 280ตารางกิโลเมตร ภายในอุทยานมีสัตว์ป่านานาชนิด มีน้ำตกและทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่ปรากฏว่า ภายในพื้นที่ป่าของอทุยานฯพบว่ามีหมู่บ้านมากถึง 8 แห่งที่ซุกตัวอยู่ในหุบเขา คือ 1.บ้านขุนลาว 2.บ้านห้วยคุณพระ3.บ้านปางมะกาด 4.บ้านห้วยน้ำกืน 5.บ้านห้วยทราย6.บ้านทุ่งยาว 7.บ้านแม่หาง 8.บ้านห้วยไคร้  จึงเกิดปัญหาตามมาว่าจะอพยพคนพวกนี้ให้ออกไปจากป่าได้อย่างไร และหากไม่สามารถอพยพขับไล่คนเหล่าได้จะทำอย่างไร เพราะเขาเหล่านี้ อยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายบ้านเมือง จึงเกิดปัญหากลืนไม่เข้า คายไม่ออกในพื้นที่ ไม่มีใครผิด แต่จะหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร ?

 

เกี่ยวกับเรื่อง นายประกิจ วงศ์ศรีวัฒนากุล ผอ.สำนักอนุรักษ์ และจัดการต้นน้ำกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยทางออกในการแก้ปัญหาว่า ตามแนวนโยบายการบริการจัดการป่าของพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นให้หน่วยงานรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาชนหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแบบเกาะติด และเข้าไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านและเข้าไปจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะเมื่อนโยบายชัดเจน ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความชัดเจนเช่นกันโดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช  ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมดังกล่าวอย่างเต็มที่เพื่อให้การแก้ปัญหาชาวบ้านบุกรุกป่าประสบความสำเร็จ

 

ต่อมาจึงมีการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.)โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2549ที่ หมู่บ้าน 4 แห่งก่อน คือ หมู่บ้านห้วยน้ำกืน หมู่บ้านขุนลาว หมู่บ้านห้วยขุนพระ หมู่บ้านปางมะกาด ท่ามกลางความหวาดระแวงไม่ไว้ใจ ของชาวบ้าน  โดยโครงการ สสอ.อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนส่งเสริมและพัฒนาชุมชนต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช เริ่มจากการเข้าไปส่งเสริมอาชีพจากที่เคยปลูกเมี่ยง ขยายเป็นการปลูกกาแฟ กับชาพื้นเมืองพันธ์อัสสัมที่ต้องปลอดสารพิษ 100 % สร้างความมั่นใจให้กับชุมชนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ จะไม่ได้รับสารพิษ ก่อนจะแปรรูปเป็นสินค้าโอท็อป โดยมีมูลนิธิสายใยแผ่นดินเข้ามาช่วยดูแลการผลิตและทำตลาด จนเกิดเป็นกาแฟอินทรีย์ ชื่อ "มีวนา"มีคุณภาพระดับโลก ได้รับรางวัลระดับชาติหลายครั้งจนมีชื่อเสียง ขายดีจนผลิตไม่ทัน

 

จากการดำเนินโครงการ สสอ.ในหมู่บ้านหุบเขาของอุทยานขุนแจแห่งนี้ ทำให้ได้รับรางวัล"เลิศรัฐ"ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี2561ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effec change)ระดับดีเด่น ซึ่งเป็นรางวัลทื่มอบให้กับหน่วยงานของภาครัฐ ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และสามารถกวาดรางวัลระดับภาคอีกหลายรางวัล จากทั่วประเทศ และขณะนี้ทางหน่วยงานกำลังรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อส่งให้กับ องค์การ สหประชาชาติหรือ ยูเอ็นพิจารณา เพื่อชิงรางวัล SDGซึ่งเป็นรางวัลเกี่ยวกับต้นแบบการพัฒนาการของคนกับป่าอย่างยั่งยืน การจัดการเกี่ยวปัญหาปากท้องชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม  คุณภาพชีวิต โครงการ สสอ.นี้จะนำใช้เป็นต้นแบบเพื่อนำไปใช้กับชุมชน หรือหมู่บ้านอื่น ๆ ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันนี้ นี่คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ หลังลงมือทำจนสำเร็จ แม้จะเหนื่อยยากไม่ต่างจากการปิดท้องหลังพระก็ตาม

หน้าแรก » ภูมิภาค