วันเสาร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 12:49 น.

ภูมิภาค

สภาทนายความหัวหินจัดทนายความอาสา ให้บริการประชาชนที่ สภ.หัวหิน

วันอังคาร ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 16.35 น.

สภาทนายความหัวหินจัดทนายความอาสา
ให้บริการประชาชนที่ สภ.หัวหิน

 

 

วันที่ 13 ส.ค.62 ที่ สภ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายคุณวุฒิ ออสุวรรณ ประธานสภาทนายความจังหวัดหัวหิน นำทีมทนายความอาสามาประจำสถานีตำรวจภูธรหัวหินเพื่อให้บริการคำปรึกษาประชาชนด้านกฎหมายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มี พ.ต.อ.ธนากร วงศ์สิริลักษณ์ ผกก.สภ.หัวหิน อำนวยความสะดวกจัดสถานที่ให้กับผู้มาใช้บริการ จากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไปเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลรวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยหนึ่งในแผนดำเนินโครงการคือการจัดทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ 150 สถานี แบ่งเป็น 1) สถานีตำรวจที่มีจำนวนคดีเกินกว่า 1,000 คดี/ปี 100 สถานี ให้บริการคำปรึกษาตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น. 2) สถานีตำรวจที่มีจำนวนคดีเกินกว่า 2,000 คดี/ปี 25 สถานี ให้บริการคำปรึกษา 2 ช่วงเวลา คือ ตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น. และ 16.30 – 23.30 น. 3) สถานีตำรวจประจำจังหวัดที่มีคดีสูงที่สุดในจังหวัดอีก 25 สถานี ให้บริการคำปรึกษาตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น.

 

 

นายคุณวุฒิ กล่าวว่าการจัดตั้งทนายความอาสาประจำโรงพักเพื่อลดปริมาณคดีที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ลดระยะเวลาในการทำคดีช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นจำเลย ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งสภาทนายความได้จัดหาทนายความมาประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่ง สภ.หัวหิน เป็นหนึ่งในจำนวน 150 สถานีเริ่มต้น ทนายความอาสาจะให้คำปรึกษาทั้งคดีแพ่ง คดีอาญาหรือเป็นการปรึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายทั่วไป ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น. ของทุกวัน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาล มอบหมายต่อให้สภาทนายความแห่งประเทศไทยดำเนินงานต่อให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย

 

 

ปัจจุบันสภาทนายความฯมีทนายความอาสาเกือบ 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ มี 400-500 คน ทั้งนี้ได้มีการประมาณการว่าจะมีประชาชนขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายจำนวน 250,000 ราย ช่วยให้ประชาชนสามารถได้รับบริการด้านกฎหมายและความยุติธรรมในเบื้องต้นได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และหากสามารถยุติข้อพิพาทได้จะทำให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล เช่นค่าเดินทาง ค่าจ้างทนายความ ค่าเอกสารประมาณ 50,000 บาท/คดี อีกด้วย โดยจะนำร่องเป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 62 และจะดำเนินการต่อเนื่องในปีต่อๆไป.

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค