วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 08:11 น.

ภูมิภาค

ผังเมืองรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมยังไม่สะเด็ดน้ำ หวั่น FAR ค้ำคอ

วันพฤหัสบดี ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563, 10.34 น.
สืบเนื่องจาก กรมโยธาและผังเมือง ได้กำหนดรูปแบบวางผังเมืองรวม เพื่อออกเป็นกฎหมาย เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ชายแดน สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ โดยมอบหมายให้บริษัทเอเซีย เเพลนนิ่ง คอนซัลเเทนท์ จำกัด ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เกี่ยวกับการวางผังเมืองรวมในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจ
 
ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาชน องค์กรเอกชน เป็นครั้งที่ 2 ที่โรงแรมฟอร์จูน วิวโขงเขตเทศบาลเมืองนครพนม มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับผังเมืองรวมฉบับนี้ จึงพากันมาคัดค้านจำนวนมาก และล้มกระดานการประชุม ทางกรมโยธาและผังเมือง จึงต้องกลับไปตั้งหลักใหม่ แล้วเชิญชวนประชาชน เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน (รายตำบล) ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 13 ตำบล ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ในระหว่างวันที่ 15 -24 มกราคม 2563 โดยครั้งที่ 1  วันที่ 15 มกราคม 2563  ณ ห้องประชุมศรีวรขาน ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลเมืองนครพนม ช่วงเช้าเวลา 09.30-12.00 น. มีกลุ่มเป้าหมายคือ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เขตพัฒนาภาคเอกชน และสื่อมวลชน ส่วนรอบบ่าย กลุ่มเป้าหมายจะเป็น หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งมีนายเอกราช มณีกรรณ์ นายอำเภอเมืองนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุม
 
ด้านกรมโยธาและผังเมือง ที่จะมาให้รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับโครงการวางและจัดผังเมืองรวมฯ ประกอบด้วย 1.นายธีรพัฒน์ ตียวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง 2.รศ.ดร.สุพรชัย อุทัยนฤมล ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่ง 3.นายณรงค์ พิระภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และ 4.น.ส.วราพรรณ ผลโพธิ์ ผู้จัดการโครงการ
 
ทั้งนี้ ตัวแทนสำนักผังเมืองรวม เปิดเผยว่าได้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เมื่อวันที่ 12-14 และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งในครั้งนั้นประชาชนที่มาร่วมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงในส่วนต่าง ๆ ประกอบไปด้วย การเพิ่มพื้นที่พัฒนาบริเวณริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212  เพิ่มพื้นที่พัฒนาบริเวณริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 และ 212  ขอเปลี่ยนแปลงที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมบริเวณตำบลหนองญาติเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ขอยกเลิกที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการบริเวณโครงการจัดรูปที่ดิน (ล.1)  ขอปรับแนวถนนสาย จ 3 ที่บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 212 ให้เป็นไปแนวถนนภายในโครงการจัดรูปที่ดินฯ และ ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อกำหนดผังเมืองรวมในหลาย ๆ ส่วนไป และเมื่อคณะทำงานได้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างผังเมืองรวมเพิ่มเติมใหม่แล้วจึงได้จัดทำการประชุมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมอีกครั้ง
 
“โดยในวันนี้ทุกคนจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนร่างผังเมืองรวมฉบับแก้ไขพร้อมกับการเปรียบเทียบร่างผังเมืองรวมฉบับเดิม รวมถึงร่างข้อกำหนดผังเมืองรวม เกี่ยวกับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต ประกอบด้วย ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ย.1 และ ย.3 ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม พ.1 พ.2 และ พ.3 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และข้อกำหนดย่านชนบทและเกษตรกรรมของผังอื่น ๆ ก่อนที่จะได้ร่วมกันอภิปรายให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะมีการรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดที่ได้ในวันนี้ไปรวมกับข้อคิดเห็นในวันพรุ่งนี้ที่จะมีการเปิดให้ประชาชนมทั้ง 13 ตำบลที่อยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมได้ร่วมกันเสนออไปเข้าประชุมและเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง จากนั้นนำเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการผังเมืองระดับประเทศ ก่อนที่จะนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการปิดประกาศ 90 วัน โดยประชาชนทุกคนยังสามารถแสดงข้อคิดเห็นได้เช่นดังเดิมฯ”
 
นายสมนาม เหล่าเกียรติ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า”จากการเข้าไปฟังการแก้ผังเมืองในครั้งนี้ เหมือนจะปรับให้ดีขึ้น แต่เราปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว ถ้ายังมี FAR ก็จะติดปัญหาเหมือนเดิม”
 
สำหรับกฎหมายผังเมือง ถูกออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นแผนผัง นโยบาย และโครงการ ที่ใช้เป็นแนวทางในการสร้าง หรือพัฒนาเมือง หรือส่วนของเมือง ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขลักษณะ ความสวยงาม ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม เพื่อส่งเสริมสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
 
ซึ่งในขอกำหนดขนาดของตัวอาคารที่สามารถสร้างได้นั้น คือค่า FAR (Floor Area Ratio) และค่า OSR (Open Space Ratio) โดยมีวิธีในการคำนวนหาค่าเหล่านี้เพื่อเป็นข้อกำหนดขนาดตัวอาคารได้ดังนี้ ค่า FAR (Floor Area Ratio) หมายถึง อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน กล่าวคือ หากมีที่ดินอยู่ 200 ตารางวา คูณด้วย 4 จะได้ 800 ตารางเมตร สามารถก่อสร้างอาคารมีพื้นที่รวมทุกชั้นทุกหลังในที่ดินแปลงนี้ได้ไม่เกินตารางเมตรที่ดิน คูณค่า FAR (กรณีนี้มีค่า FAR ไม่เกิน 6) จะได้พื้นที่อาคารรวมไม่เกิน 800 คูณด้วย 6 ได้ไม่เกิน 4,800 ตารางเมตร (สูตร พื้นที่อาคารที่สร้างได้  =  ค่า FAR X ขนาดพื้นที่ดินเป็นตารางเมตร)
 
ส่วนค่า OSR (Open Space Ratio) หมายถึง อัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม กล่าวคือ หากมีที่ดินอยู่ 200 ตารางวา คูณด้วย 4 ได้ 800 ตารางเมตร ตัวอาคารที่จะสร้างและชายคาปกคลุมพื้นดินมีขนาดเท่าใด ถือว่าเป็นพื้นที่ปกคลุม เช่น ตัวอาคารมีขนาด 12.00×24.00 เมตร มีชายคาหรือกันสาดโดยรอบ 1.00 เมตร จะมีขนาดปกคลุมพื้นที่ดินเป็น 14.00×26.00 เมตร คือ ปกคลุม 364 ตารางเมตร ดังนั้น จะเหลือที่ว่างเท่ากับ 800 ลบด้วย 364 เหลือที่ว่างเท่ากับ 436 ตารางเมตร นำไปคิดค่า OSR โดยเอาพื้นที่ว่างตั้งและหารด้วยพื้นที่อาคารรวมคูณด้วยร้อย ต้องได้ไม่น้อยกว่าที่กำหนดให้ไว้ เช่น อาคารมีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เหลือพื้นที่ว่าง 436 ตารางเมตร จะได้ค่า OSR ออกมาเท่ากับ 436 ตั้ง และหารด้วย 2,000 คูณด้วย 100 จะได้เท่ากับร้อยละ 17.3 ซึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
 
ปฏิทินการประชุมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม มีทั้งหมด 13 ครั้ง ระหว่างวันที่ 15-24 มกราคม 2563 ครั้งที่ 1 วันที่ 15 มกราคม ช่วงเช้า ห้องประชุมศรีวรขาน ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลเมืองนครพนม กลุ่มเป้าหมาย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เขตพัฒนาภาคเอกชน และสื่อมวลชน ครั้งที่ 2 วันเดียวกัน ช่วงบ่าย ห้องประชุมศรีวรขาน ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลเมืองนครพนม กลุ่มเป้าหมายจะเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองนครพนมครั้งที่ 3  วันที่ 16 มกราคม 2563 ช่วงเช้า ห้องประชุมเทศบาลตำบลหนองญาติ กลุ่มเป้าหมาย  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลหนองญาติ ครั้งที่ 4 วันเดียวกัน เวลา 13.30-16.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ กลุ่มเป้าหมาย  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ
 
ครั้งที่ 5  วันที่ 17 มกราคม 2563 เวลา  09.30-12.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ กลุ่มเป้าหมาย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ ครั้งที่ 6 วันเดียวกัน เวลา 13.30-16.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาราชควาย กลุ่มเป้าหมาย  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาราชควาย
 
ครั้งที่ 7  วันที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 09.30-12.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย กลุ่มเป้าหมาย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย ครั้งที่ 8 วันเดียวกัน เวลา 13.30-16.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก กลุ่มเป้าหมาย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก
 
ครั้งที่ 9 : วันที่ 21 มกราคม 2563 13.30-16.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลกุรุคุ กลุ่มเป้าหมาย  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลกุรุคุ
 
ครั้งที่ 10  วันที่ 22 มกราคม 2563 เวลา 09.30-12.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเวินพระบาท อ.ท่าอุเทน กลุ่มเป้าหมาย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเวินพระบาท ครั้งที่ 11 วันเดียวกัน เวลา 13.30-16.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลรามราช กลุ่มเป้าหมาย  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลรามราช
 
ครั้งที่ 12 วันที่ 23 มกราคม 2563 เวลา 09.30-12.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล กลุ่มเป้าหมาย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล และครั้งที่ 13  วันที่ 24 มกราคม 2563 เวลา 09.30-12.00 น. ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง กลุ่มเป้าหมาย  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง

หน้าแรก » ภูมิภาค