วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 20:52 น.

ภูมิภาค

ชลประทานอุตรดิตถ์ วอนท้องถิ่นช่วยกำกับการสูบน้ำแม่น้ำน่านไปใช้

วันศุกร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, 13.46 น.
นายปิยะภัทร สายเมฆ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ กล่าวว่า โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามการสูบน้ำในเขตพื้นที่ของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อาทิ ในเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตำบลผาจุก ,สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตำบลงิ้วงาม และ  ตำบลบ้านด่าน ตลอดจนของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในเขตตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา  ,สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเขตพื้นที่อำเภอพิชัย  พื้นที่หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านหม้อ , สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายน้ำตำบลบ้านหม้อ , สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านหาดกรวด ตำบลท่ามะเฟือง รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ด้วยมาตรการการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งดการเพาะปลูกหากไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง และ   หากเป็นไปได้ก็ของดการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านไปใช้ในการเพาะปลูก เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำน้อย ยกเว้นจะมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับแผนการบริหารน้ำของกรมชลประทานในภาพรวมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทั้งหมด 22 จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา
 
จากการตรวจสอบพื้นที่การเพาะปลูกฤดูแล้ง ในเขตพื้นที่โครงการชลประทานของจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 20,964 ไร่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน    โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำ และ  บางแห่งก็มีแหล่งเก็บกักน้ำเป็นของตนเอง    ส่วนการเพาะปลูกพืชดูแล้ง    นอกเขตพื้นที่โครงการชลประทานส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในเขตสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า   มีพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 154,361 ไร่   โดยเป็นพื้นที่ในเขตสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของแม่น้ำน่าน 138,771 ไร่ จำนวน 88 สถานี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ กล่าวอีกว่า โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ สำนักงานชลประทานที่ 3 ยังได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกร และ  ทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ  หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำก็ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ ลดจำนวนวัน ลดจำนวนเครื่อง และลดระยะเวลา การสูบน้ำจากแม่น้ำน่านไปใช้
 
อย่างไรก็ตาม จึงอยากขอความร่วมมือจากท้องถิ่นให้ลงมาช่วยกำกับ ติดตาม เพื่อจะให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง ให้ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 3 - 4 เดือน ส่วนกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบปัญหาและสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี.

หน้าแรก » ภูมิภาค