วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 17:35 น.

ภูมิภาค

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านภูเขาขามเลี้ยงไหมอีรี่ ขายบริษัทเสริมรายได้ชาวนาอำนาจเจริญ

วันศุกร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, 14.34 น.

ถึงแม้จะเป็นช่วงพักผ่อน  จากการเหน็ดเหนื่อยในการทำนาปลูกข้าวมาหลายเดือน ชาวนาผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ก็ไม่เคยอยู่เฉยๆ ยังคงมองอาชีพเสริมเพิ่มรายได้มาจุนเจือนครอบครัว ด้วยการ นำเอาภูมิปัญหาชาวบ้าน ซึ่งเรียนรู้จากพ่อแม่ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บอกสอน วิธีทำและผลิตเป็นสินค้าวางจำหน่าย สร้างรายได้เป็นอย่างดี
   

อย่างเช่น แม่บ้านชาวนาบ้านภูเขาขาม ต.คึมใหญ่ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ อีกหนึ่งความสำเร็จ ในการรวมตัวของบรรดาแม่บ้านผู้ทำนาปลูกข้าว ซึ่งว่างจากการทำนาปลูกข้าว โดยการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ภูเขาขาม ขึ้น มีสมาชิก จำนวน 40 คน นางกฤษณา เจริญสุข เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมอีรี่ ภูเขาขาม และอีกตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคึมใหญ่(ส.อบต.) ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดัน ให้แม่บ้านชาวนามีงานทำ มีรายได้ โดยการผลิตเส้นไยไหมป้อนบริษัท ซึ่งบริษัทรับซื้อไม่อั้น จึงต้องมีการขยายเครือข่ายการผลิตไปหลายพื้นที่ โกยเงินเข้าชุมชนเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

 


    

นางกฤษณา เจริญสุข อายุ 45 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ภูเขาขาม เล่าว่า ได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่พี่น้องบ้านภูเขาขาม หมู่ที่ 6 ให้เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงในหมู่บ้าน คือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคึมใหญ่(ส.อบต.) ลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านมาโดยตลอด ก็ทราบถึงปัญหาความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องชาวภูเขาขามเป็นอย่างดี ซึ่งพบว่า หมดฤดูทำนา ก็จะว่างงาน และอยากให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ก็นั่งคิดนอนคิดอยู่หลายวัน จึงมาลงเอยที่ การเลี้ยงไหมป่าอีรี่ โดยการสนับสนุนจาก ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดอุบลราชธานี ในการอบรมให้ความรู้ วิธีเลี้ยงหม่อนไหม ทุกขั้นตอน จนสามารถทำเองได้ และทำการเลี้ยงไหมอีรี่จนกระทั่งปัจจุบัน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี
        

นางกฤษณา เจริญสุข ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ภูเขาขาม ผู้จุดประกายอาชีพแก่ชาวนาภูเขาขาม กล่าวว่า  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ผลิตส่งป้อนให้กับ 5 แหล่ง คือ 1. บริษัท สปันซิล อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 2. บริษัท เกรียงศักดิ์  จ.สระบุรี 3. ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี รับซื้อดักแด้ไปทำถังเช่า 4. จำหน่ายทางตลาดออนไลน์ และ 5. จำหน่ายเทศกาลงานต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ งาน OTOP , งานตรานกยูงพระราชทานฯ

 


    

นางกฤษณา เจริญสุข ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมอีรี่ ภูเขาขาม กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า  จากการตั้งกลุ่มฯมาเป็นเวลา 7 ปี (ตั้งกลุ่มปี 56) นับว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะที่ผ่านมามีเกษตรกรผู้สนใจเดินทางเข้ามาเรียนรู้ ศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น  ปัจจุบัน มีเครือข่ายเลี้ยงไหมป่าอีรี่  จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 47 ราย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้  1. กลุ่มเลี้ยงไหมอีรี่ ต.ลือ อ.ปทุมราชวงศา จำนวน 14 ราย 2. กลุ่มเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ต.นายม อ.เมืองอำนาจเจริญ จำนวน 13 ราย 3.กลุ่มเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จำนวน 10 ราย และ 4. กลุ่มเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ต.คำเขื่อนแก้ว อ.ชานุมาน จำนวน 10 ราย ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มฯ มีการผลิตรังไหมอีรี่และดักแด้อีรี่ให้แก่กลุ่มไหมป่าอีรี่ ภูเขาขาม เพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทจังหวัดสระบุรี
    

สำหรับรายได้ในการจำหน่ายหม่อนไหม ที่ผ่านมา มีดังนี้
    1    จำหน่ายรังไหมอีรี่/รุ่น เป็นเงิน 1,200 – 1,500 บาท/ราย
    2    จำหน่ายดักแด้ไหม/รุ่น  เป็นเงิน 12,600 บาท/ราย
    3    ปริมาณการสาวไหม/รุ่น ปีละ 50 กก.โดยจำหน่ายในราคา กิโลกรัมละ 2,000 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท/กลุ่ม
    4    ผลิตผ้าไหมอีรี่ ผ้าคลุมไหล่ 30 ผืน/เดือน ผืนละ 800 – 1,200 บาท/เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท/กลุ่ม
    5    ดักแด้อบกรอบปีละ 1,500 ซองๆละ 35 บาท จำหน่ายได้ 1,000 ซอง เป็นเงิน 35,000 บาท/ปี รวมเป็นรายได้เฉลี่ย/ราย เป็นเงิน 14,100 บาท และรวมรายได้เฉลี่ย/ปี/ราย เป็นเงิน 112,800 บาท

 

ซึ่งที่ผ่านมา ผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมป่าอีรี่ คือ 1. เกิดรายได้เพิ่มขึ้น จากการเลี้ยงไหมป่าอีรี่ เป็นเงิน 112,800 บาท/ปี/ราย 2. สร้างรายได้ต่อกลุ่ม รวมเป็นเงิน 5,640,000 บาท/ปี/กลุ่ม 3.เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายสร้างงาน สร้างรายได้ ในจังหวัดอำนาจเจริญ 4.ลดปัญหาว่างงาน 5. ลดปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ(มันสำปะหลัง) 6. นำใบมันสำปะหลังมาใช้ประโยชน์แทนการทิ้งให้สูญเปล่า 7. เกิดเกษตรกรรายใหม่ด้านหม่อนไหมเพิ่มขึ้น 8. เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ(กรมหม่อนไหม,กรมส่งเสริมการเกษตร,พัฒนาชุมชน)

 

และ ไม่นานมานี้  นายสมเกียรติ แก้วรัตน์ นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญและผู้รับผิดชอบในตำบลคึมใหญ่ เป็นพยานในการซื้อขาย รังไหม จาก กลุ่มผู้เลี้ยงไหมอีรี่ โดยใช้ใบมันสำปะหลังเลี้ยงแทนใบหม่อน บ้านภูเขาขาม ต.คึมใหญ่ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ กับ บริษัทโคโคนิก จำกัด ซึ่ง ตกลง ทางบริษัทฯจะมารับซื้อไหม ไม่อั้น ราคา กก.ละ 400 บาท และต้องการซื้อไหมปีละ 10 ตัน

 


    

ด้านนายสมเกียรติ แก้วรัตน์ นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ให้การส่งเสริมสนับสนุน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไหมป่าอีรี่ ภูเขาขาม โดยใช้ใบมันสำปะหลังเลี้ยงแทนใบหม่อน ด้วยการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไหม จำนวน 4 โรงเรือน และอื่นๆ ส่วนการรับซื้อไหมป่าอีรี่ ก็ขอให้มีความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ตามข้อกำหนดและตกลงกันไว้...


สนธยา ทิพย์อุตร/รายงาน

 

หน้าแรก » ภูมิภาค