วันศุกร์ ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 10:14 น.

ภูมิภาค

อดีตผู้ว่าฯนำชาวหนองไผ่ ค้านสร้างสะพานยกระดับสามแยกพืชสวน

วันพฤหัสบดี ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563, 19.08 น.
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 12 มี.ค. 63 ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษหลังเก่า อ.เมือง  จ.ศรีสะเกษ  นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ อดีต ผวจ.อำนาจเจริญ ในฐานะประธานชุมชน ต.หนองไผ่ ได้นำประชาชนชาว ต.หนองไผ่ ซึ่งส่วนมากแล้วเป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตาม 2 ข้างถนนบริเวณสามแยกพืชสวน ต.หนองไผ่ อ.เมืองศรีสะเกษ จำนวนประมาณ 20 คน พากันมาชูป้ายคัดค้านการก่อสร้างสะพานยกระดับบริเวณสามแยกพืชสวน ข้อความว่า มีสะพานค้าขายไม่ได้ สะพานลงที่นี่รถไปติดที่ไหน ไม่เอาสะพาน ชาวหนองไผ่ไม่เอาสะพาน เปลี่ยนสะพานเป็นอุโมงค์ได้มั๊ย แยกพืชสวนแยกโรงไอติม แยก อส. แยกนิกรมอเตอร์ ที่ไหนรถไม่ติด ต่อมาได้มีนายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษมาพบกับกลุ่มชาวบ้าน และได้เชิญกลุ่มชาวบ้านทั้งหมดขึ้นไปประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อรับทราบข้อเรียกร้อง จากนั้น นายสุริยะ  ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กับ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ อดีต ผวจ.อำนาจเจริญ ในฐานะประธานชุมชนตำบลหนองไผ่  กล่าวว่า  ตามที่กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองศรีสะเกษ (ด้านเหนือ)โดยว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการนั้น  ประชาชนชาว ต.หนองไผ่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานยกระดับข้ามแยกพืชสวน เพราะเห็นว่า โครงการดังกล่าวขาดความเหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่ เนื่องจากว่า บริเวณสามแยกพืชสวนเป็นถนนที่มีการจราจรออกจากตัวเมืองศรีสะเกษ ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 4 กม. ปริมาณการจราจรไม่ได้มีความแออัดหนาแน่น การมีเพียงไฟสัญญาณจราจรก็เหมาะสมเพียงพอต่อการระบายการจราจรคล่องตัวและปลอดภัย รถติดไฟแดงสะสมมีไม่ถึง 10 คันต่อครั้ง อีกทั้งโครงข่ายถนนและการจราจรภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากในปีงบประมาณ 2561 – 2562 รัฐบาลได้มีการก่อสร้างขยายผิวจราจรเส้นทางสำคัญ ๆ คือ เส้นทางอุบล- หนองงูเหลือม- แยกบ้านจาน - อ.กันทรลักษ์- เชื่อมต่อถนนหมายเลข 24 และเส้นทาง อ.เมือง -อ.ขุขันธ์ -เชื่อมต่อถนนหมายเลข 24 ทำให้รถยนต์เปลี่ยนไปใช้เส้นทางดังกล่าวมากกว่าเส้นอุบล - ถนนสาย 226 - ผ่านแยกพืชสวน - จ.สุรินทร์
 
อดีต ผวจ.อำนาจเจริญ กล่าวต่อไปว่า หากจะใช้ข้อมูลเพื่อการคาดการณ์ปริมาณรถผ่านเส้นทาง ควรต้องนั่งคำนวณปริมาณรถใหม่ ณ บริเวณสามแยกพืชสวน และใช้พื้นฐานข้อมูลใหม่ หากใช้ข้อมูลเดิมของกรมทางหลวงอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณไปใช้ในการก่อสร้างสะพานผิดจุด  หากมีการสร้างสะพานยกระดับจุดแยกพืชสวน จะทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ยังมีวิถีชีวิตใช้รถ จยย.เข้า – ออกหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงจำนวนมาก จากการวิ่งขึ้นสะพานยกระดับและการกลับรถ  พื้นที่ดังกล่าวเหมาะที่จะปล่อยภูมิทัศน์ให้เกิดการขยายตัวของชุมชนและเศรษฐกิจ หากมีสะพานยกระดับจะทำลายเศรษฐกิจและการเติบโตของเมือง  ทางเลี่ยงเมืองดังกล่าวเป็นวงแหวนรอบที่ 1 และสภาพเส้นทางใกล้ตัวเมืองใกล้ความเจริญ ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการเป็นทางเร่งด่วน จะทำให้เสียงบประมาณไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสม หากมีวงแหวนรอบที่ 2 จึงควรไปสำรวจออกแบบสะพานยกระดับ สมควรนำงบประมาณไปใช้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่มีความต้องการเร่งด่วนมากกว่านี้ มติของประชาชนชาว ต.หนองไผ่ ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานยกระดับบริเวณสามแยกพืชสวน
 
นายวิชาญ พันธ์นุเรณู ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1  กล่าวว่า  บริเวณดังกล่าว ยังไม่ได้มีข้อสรุป  เพียงบริษัทที่ปรึกษาได้มีการเสนอว่า  บริเวณดังกล่าวหากมีการสร้างถนนเลี่ยงเมืองแล้วจะเป็นสี่แยก เพื่อลดผลกระทบไม่ให้มีรถติดสะสมทางบริษัทที่ปรึกษาจึงมีแนวคิดที่จะทำเป็นทางแยกต่างระดับ เป็นเพียงแนวคิดของบริษัทที่ทางกรมทางหลวงจ้างมาสำรวจความเหมาะสม ยังไม่ได้มีข้อสรุปแต่อย่างใด  ตนจะเสนอทางบริษัทว่า เรื่องนี้มีการคัดค้าน  ส่วนรูปแบบจะเป็นแบบใดนั้น ตนจะคุยกับบริษัทที่รับจ้างออกแบบอีกครั้งหนึ่ง
 
ทางด้าน นายสำรวย เกษกุล  รอง ผวจ.ศรีสะเกษ  กล่าวว่า  วันนี้ตัวแทนของกลุ่มผู้ได้รับกระทบจากการก่อสร้างถนนทางด้านทิศเหนือ  ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะทำร่างการก่อสร้างสะพานยกระดับที่บริเวณสามแยกพืชสวน  ทำให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมายื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการก่อสร้างในส่วนของตัวสะพาน  ซึ่งทางจ.ศรีสะเกษ ได้รับข้อเรียกร้องไว้แล้ว และจะได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาและแขวงทางหลวงศรีสะเกษมาปรึกษาหารือเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ต่อไป

หน้าแรก » ภูมิภาค