วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:16 น.

ภูมิภาค

เล็งติดปลอกคอ “พลายบุญมี” ช้างป่าละอูดื้อก่อนย้ายเข้าป่าลึก

วันอังคาร ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563, 15.49 น.

วันที่ 28 เมษายน นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย หัวหน้าเขตบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ 5 พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จำนวน 47 นาย จัดกิจกรรม "Big Cleaning Day" รณรงค์ทำความสะอาดสถานที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยการตัดสางกิ่งไม้ที่หักเอนล้มกีดขวางทาง ตัดหญ้าสองข้างทางเข้าสู่ตัวแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงระบบท่อน้ำ และทำความสะอาดเก็บกวาดกำจัดขยะใบไม้แห้งตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้านในน้ำตกป่าละอูให้เกิดความสวยงาม

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่รายงานการดูแลควบคุมปัญหาช้างป่า ดูแลความปลอดภัยตามเส้นทางสายพุไทร-ไทรเอน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ร่วมกับทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึกดูแลความปลอดภัยช้าง-คน บริเวณพื้นที่ที่ล่อแหลมที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาช้างป่าเดินข้ามถนนในช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่สัญจรไปมาตามเส้นทางสายหลักพบช้างใหญ่ คือ พลายบุญมี  พลายบุญช่วย และช้างใหญ่มีลักษณะโคนงวงใหญ่ (เจ้างวงโต) เดินอยู่บนถนน จึงผลักดันเข้าป่าและเฝ้าระวังไม่ให้ช้างออกมากินบนถนน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังพบโขลงช้างออกหากินอยู่ชายป่า จำนวน 12 ตัว แยกเป็น ช้างใหญ่มีงา  1 ตัว  ช้างใหญ่ 6 ตัว ช้างรุ่น 3 ตัว ช้างเด็ก 1 ตัวและช้างแรกเกิด  1 ตัว

 

 

นายมานะ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการย้ายช้างพลายบุญมี ที่มีพฤติกรรมดื้อ ไม่ตอบสนองต่อการขับไล่และการผลักดันของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีพฤติกรรมชอบเดินบนถนนและหาออกกินในชุมชนเวลากลางคืน สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาระหว่างช้างกับคน ให้เข้าไปอยู่ในป่าลึกห่างชุมชน ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหนังสือเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชนเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ถูกต้องเหมาะสม มีข้อมูลครบถ้วน ได้อนุมัติให้คณะเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ติดตามพฤติกรรม “พลายบุญมี” โดยการติดปลอกคอติดตามตัวสัตว์สัญญาณดาวเทียม (GPS Collar) เพื่อทราบเส้นทางการเคลื่อนที่ การหากินของทางด้านนิเวศวิทยา เพื่อเฝ้าระวังป้องกัน พลายบุญมีก่อนที่เข้าสู่เขตชุมชน รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่รองรับที่จะนำช้างไปปล่อยทั้งในด้านความสมบูรณ์ของพื้นที่ แหล่งน้ำ-อาหาร ประชากรช้างป่าประจำถิ่น เส้นทางการเคลื่อนย้าย และความปลอดภัยต่อตัวช้างป่าที่จะเคลื่อนย้าย เพื่อเตรียมความพร้อมและเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการดำเนินการเคลื่อนย้ายช้างต่อไป.

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค