วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 06:14 น.

ภูมิภาค

ผู้ว่าฯเมืองคอน นำปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

วันอังคาร ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 21.12 น.
วันที่ 23 ก.พ.64 นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดกิจกรรม การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ” ณ แปลงผักจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มีหัวหน้าส่วนราชการ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน และเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ สำหรับการปลูกผักสวนครัวในครั้งนี้ ดำเนินการในพื้นที่บ้านพักหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ที่เป็นผู้นำต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด เป็นต้น พร้อมทั้งเผยแพร่การดำเนินงานสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ด้วย ส่วนพันธุ์พืชผักสวนครัวที่ปลูก อาทิ พริก มะเขือ คะน้า ผักกวางตุ้ง ต้นหอม เป็นต้น
 
โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือนพร้อมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เน้นการพึ่งตนเอง และความสามัคคีของคนในชุมชน เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติโควิด-19 โดยครั้งที่ 1 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 และได้มีการขยายผลสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือนเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาหมู่บ้านให้ยั่งยืน อีกทั้งสร้างรายได้และเสริมสร้างความรักความสามัคคีและความเกื้อกูลของคนในชุมชน มีเป้าหมายดำเนินการทุกหมู่บ้านทุกครัวเรือนระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 5 ธันวาคม 2563 มีครัวเรือนปลูกผักประจำครัวเรือนทั้งสิ้น จำนวน 12,120,665 ครัวเรือน มีการตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์ จำนวน 7,871 แห่งของตำบลทั้งหมดทั่วประเทศ 
 
นอกจากนี้ยังสร้างชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีครัวเรือนทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนจำนวน 11,251,071 ครัวเรือน รวมทั้งยังก่อให้เกิดนวัตกรรมแห่งอาหาร เมนูรักษ์สุขภาพ 8,850 รายการ ตลาดนัดสีเขียว 4,176 แห่ง ของตำบลทั้งหมดทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน 4,206 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ชุมชนเกิดความสามัคคี มีวิถีพอเพียง เกื้อกูล สามารถดูแลช่วยเหลือ และแบ่งปันกัน ซึ่งจะช่วยประชาชนให้มีแหล่งอาหารในครัวเรือน สามารถลดรายจ่าย ทำให้ครัวเรือนพึ่งตนเองได้ ในภาวะวิกฤตช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีกระบวนการดำเนินการ 6 ขั้นตอน คือ 1.ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง 2.ผู้นำต้องทำก่อน 3. นักพัฒนา 3 ประสาน กลไกการขับเคลื่อนปฏิบัติการ 90 วัน 4. ถึงทุกครัวเรือนคือคลังอาหาร ทุกหมู่บ้านคือศูนย์แบ่งปัน 5. ทักษะวิถีชีวิตใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น และ 6. ถอดรหัสการพัฒนา :ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

หน้าแรก » ภูมิภาค